“ผีกระสือ” ชนะเลิศ Key Visual แจ้งเกิดศิลปินคนใหม่ งานหนังสือฯ ครั้งที่ 29

04 ก.ค. 2567 | 10:19 น.

“ธญธร ธรรมาชีพเจริญ” แจ้งเกิดเป็นศิลปิน Key Visual คนใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศออกแบบโปสเตอร์ “ผีกระสือ” ภายใต้คอนเช็ปต์ “อ่านกันยันโลกหน้า” คว้ารางวัล 1 แสนบาท พร้อมนำไปใช้เป็นต้นแบบจัดงานหนังสือครั้งต่อไป

นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ( PUBAT ) กล่าวว่า คณะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีมติเอกฉันท์ตัดสินให้ผลงาน “ผีกระสือ” ของ “ธญธร ธรรมาชีพเจริญ” ชนะเลิศโครงการประกวดออกแบบโปสเตอร์ Key Visual ของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 (Book Expo Thailand 2024) ในธีม “ผี” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “อ่านกันยันโลกหน้า” นับเป็นครั้งแรกที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้นำเสนอแนวคิดและผลงาน จากเดิมใช้ศิลปินหรือเอเจนซี่ที่มีชื่อเสียงมาออกแบบ โดยผลงานดังกล่าวจะถูกใช้เป็นแกนหลักในการจัดงานระหว่างวันที่ 10 - 20 ตุลาคม 2567 ณ ฮอลล์ 5 - 7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และถ้าหากแนวคิดของการจัดประกวดในครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จะนำไปใช้เป็นต้นแบบในดำเนินการจัดงานหนังสือครั้งต่อไป

“ผีกระสือ” ชนะเลิศ Key Visual แจ้งเกิดศิลปินคนใหม่ งานหนังสือฯ ครั้งที่ 29

สำหรับผลงาน Key Visual ผีกระสือ ถูกคัดเลือกให้ได้รางวัลชนะเลิศจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 438 ผลงาน ด้วยแนวคิดถูกต้องตรงตามโจทย์ ที่ได้วางไว้ ซึ่งมีรูปแบบการนำเสนอและการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งสามารถต่อยอดเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดันโดยสมาคมฯและผู้ชนะรางวัลจะพัฒนาผลงานดังกล่าวไปสู่งานอีกประมาณ 70 ชิ้น เพื่อให้มีความสมบูรณ์ครบองค์ประกอบของการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 นอกจากนั้นจะพิจารณาคัดเลือกผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้าร่วมประกวดอีกจำนวน 100 ผลงาน มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในงานมหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่ 29 อีกด้วย 

“สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ประสบความสำเร็จอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการออกแบบ Key Visual ที่จะใช้เป็นธีมหลักในงานมหกรรมหนังสือฯ ด้วยการจัดประกวดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปได้นำเสนอผลงาน เพราะเชื่อว่ามีคนไทยอีกมากที่มีความรู้ความสามารถแต่อาจถูกจำกัดด้วยพื้นที่แสดงผลงาน และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด ขณะที่สมาคมฯ ก็จะได้รูปแบบแนวคิดใหม่ๆ ในการจัดงาน ส่วนผู้เข้าร่วมชมงานก็จะได้สัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่”

“ผีกระสือ” ชนะเลิศ Key Visual แจ้งเกิดศิลปินคนใหม่ งานหนังสือฯ ครั้งที่ 29

ด้าน นายธีรนัย โสตถิปิณฑะ เลขาธิการ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวว่า เจ้าของผลงานผีกระสือจะได้รับเงินรางวัลในโครงการประกวด Key Visual งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 มูลค่าสูงถึง 1 แสนบาท พร้อมเกียรติบัตรเชิดชูผลงาน แต่สิ่งที่พิเศษที่สุดคือโอกาสการได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในการสร้างสรรค์งานมหกรรมหนังสือฯ และผลงานจะถูกจัดแสดงเป็นนิทรรศการตลอดการจัดงาน ซึ่งจะผ่านสายตาผู้เข้าร่วมงานทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 1.5 ล้านคน ประกอบกับการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทำให้โดยรวมแล้วจะมีผู้เห็นผลงานเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่าตัว หรือไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน ขยายโอกาสในการต่อยอดผลงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดและชื่อเสียงได้อีกมาก ในขณะที่สมาคมฯ ก็พร้อมผลักดันไปสู่งานระดับสากลอีกด้วย
 

“เราต้องการเฟ้นหาช้างเผือกมาร่วมงานกับเรา ซึ่งเป็นใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องวาดรูปสวยที่สุด เพราะไม่ได้เลือกจากความสวยงาม แต่ต้องตรงกับคอนเซ็ปต์ที่วางเอาไว้ และด้วยศักยภาพชื่อเสียงของงานมหกรรมหนังสือฯ ที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้เชื่อว่า นอกจากความภาคภูมิใจของเจ้าของผลงานแล้ว ยังเป็นพื้นที่ในการคว้าโอกาสในการต่อยอดผลงานได้อีกมาก ซึ่งเท่ากับมูลค่าทางการตลาดมหาศาลที่จะได้รับกลับมาซึ่งสูงกว่ามูลค่าเงินรางวัลที่ได้รับ”

“ผีกระสือ” ชนะเลิศ Key Visual แจ้งเกิดศิลปินคนใหม่ งานหนังสือฯ ครั้งที่ 29

นายธญธร ธรรมาชีพเจริญ ผู้ชนะเลิศรางวัล โครงการประกวด Key Visual งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 จากผลงาน Key Visual ผีกระสือ กล่าวว่า แนวคิดการออกแบบได้ใช้ผีกระสือ ซึ่งคนไทยรู้จักกันดี มาเป็นตัวแทนในการสื่อสารชีวิตหลังความตายหรือโลกหน้า แต่ด้วยนิสัยรักการอ่านหนังสือของ ผีกระสือ แทนที่จะเรืองแสงหลังออกจากร่าง เพื่อออกหากินในยามค่ำคืน ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักที่น่ากลัวตามความเชื่อของคนไทย แต่ผีกระสือตนนี้ กลับเลือกใช้ร่างกายของตนจับหนังสือเอาไว้ พร้อมใช้ไฟที่สว่างจากอวัยวะภายในมาส่องสว่างเพื่ออ่านหนังสือนิยายแทน ในขณะที่เลือกใช้รูปแบบตัวอักษรประกอบด้วยแรงบันดาลใจจากการ์ตูนผีเล่มละบาท ฝีมือคนไทยที่โด่งดังในสมัยอดีตมาใช้เพื่อสื่อถึงความเป็นไทยให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“ผมภาคภูมิใจผลงาน Key Visual ผีกระสือ และรางวัลครั้งนี้อย่างมาก ซึ่งถือเป็นเวทีแรกที่ส่งงานเข้าประกวด แต่นอกเหนือรางวัลและความภูมิใจอื่นใด คือ ความภูมิใจที่มีคนเห็นคุณค่าของวิธีคิดและการสื่อสาร แม้ตอนแรกจะลังเลในการเข้าร่วมโครงการเพราะมองว่าเด็กรุ่นใหม่เก่งกว่า ดังนั้นอยากให้คนไทยที่ต้องการนำเสนอแนวคิดผลงานที่แสดงถึงความภาคภูมิใจของตัวเองเข้าร่วมการประกวดครั้งต่อไป”