MBK คึกคักนักช้อปเพียบ จ่อลงทุน-ต่อสัญญาจุฬาฯ

16 ส.ค. 2567 | 22:04 น.

ค้าปลีกย่านปทุมวันคึกคัก “เอ็มบีเค” นักช้อปทะลุ 8.5 หมื่นคนต่อวัน แซงหน้าก่อนโควิด หลังนักท่องเที่ยวไทย จีน ยุโรป ตะวันออกกลางพุ่ง ดีเดย์โฉมใหม่ “พาราไดซ์ พาร์ค” หลังทุ่มงบรีโนเวทกว่าพันล้าน ลั่นพร้อมเจรจาต่อสัญญาสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ที่เหลือเวลาอีก 9 ปี

นายวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมของศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า กลับมาเติบโตดี โดยมีร้านค้ากลับมาเปิดให้บริการแล้ว 98% ขณะที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 8.5 หมื่นคนต่อวัน มากกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยพบว่ากลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่เพิ่มขึ้นมีทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ อาทิ จีน ยุโรป และตะวันออก

“หลังจากที่โควิดคลี่คลาย เอ็มบีเคเองได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาด โดยมุ่งเน้นการเจาะลึกถึงอินไซต์ลูกค้าที่มาใช้บริการว่าต้องการสินค้าอะไร บริการอะไร และนำมาปรับ Tenant Mix ใหม่ เพราะเราเรียนรู้ว่า เดิมเราพึ่งพิงลูกค้าต่างชาติมาก เมื่อเกิดโควิดจึงต้องปรับเข้าหาลูกค้าคนไทยมากขึ้น และเมื่อโควิดคลี่คลายลูกค้าคนไทยก็ยังอยู่ และลูกค้าต่างชาติก็กลับมา ซึ่งวันนี้ภาพของเอ็มบีเค เซ็นเตอร์เปลี่ยนไป”

MBK คึกคักนักช้อปเพียบ จ่อลงทุน-ต่อสัญญาจุฬาฯ

สำหรับสัดส่วนร้านค้าภายในเอ็มบีเค ไฮไลท์สำคัญคือ ร้านอาหารในสัดส่วน 20% ตามมาด้วยฟู้ดคอร์ส และติวเตอร์ ซึ่งที่นี่เป็นศูนย์รวมสถาบันสอนพิเศษ หรือติวเตอร์ที่มากที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนี้บริษัทยังปรับรูปแบบการทำตลาดโดยเจาะเข้าไปหาลูกค้าในต่างประเทศมากขึ้น ด้วยการเข้าไปสร้างแบรนด์อะแวร์เนส ผ่านโซเชียลมีเดีย ในประเทศนั้น ๆ ทั้งที่เป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ รวมทั้งการจับมือกับสายการบินทำ Co-Promotion ร่วมกันด้วย

อย่างไรก็ดี ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ในย่านปทุมวัน ซึ่งถือเป็นไดมอนด์ เอเรีย ช้อปปิ้ง ที่รวมศูนย์การค้าชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี, สยามสแควร์วัน , เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ และสยามสเคป ซึ่งในอนาคตก็จะมีมิกซ์ยูสแห่งใหม่ของเซ็นทรัลพัฒนา ที่คว้าพื้นที่ Block A ของสยามสแควร์ และมีแผนพัฒนาเป็นศูนย์การค้า โรงแรม และสำนักงาน ในปลายปี 2569 ทำให้การแข่งขันยิ่งทวีความรุนแรง

MBK คึกคักนักช้อปเพียบ จ่อลงทุน-ต่อสัญญาจุฬาฯ

“แต่ละศูนย์การค้าก็มีโพสิชั่นนิ่งที่แตกต่างกัน มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น สยามพารากอนก็จะมีความลักชัวรี ขณะที่การเข้ามาของเซ็นทรัลพัฒนา เชื่อว่าจะมาเสริมให้ย่านปทุมวันมีความสมบูรณ์และครบเครื่องมากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่กรุงเทพมหานครจะมีพื้นที่ที่ครบสมบูรณ์แบบเช่นนี้ต้องใช้เวลาในการสร้างนาน

อย่างไรก็ดี ในส่วนของเอ็มบีเคเองนั้นยังเหลือสัญญาเช่าที่ดิน 23 ไร่ จากสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีก 9 ปี (หมดสัญญาปี 2576) หลังจากที่ต่อสัญญามาแล้ว 1 รอบ คือ 30 ปี + 20 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกันและยังมีเวลาอีกมาก”

นายวิจักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการรีโนเวท พาราไดซ์ พาร์ค ศูนย์การค้าในเครือเอ็ม บี เค ซึ่งเป็นการปรับโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 13 ปี ด้วยงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เริ่มรีโนเวทตั้งแต่ปี 2566 โดยปรับรูปลักษณ์ดีไซน์ บรรยากาศภายใน และปรับโซนต่างๆ ใหม่ทั้งหมด เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมลูกค้า พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคในฝั่งกรุงเทพฯตะวันออกและพื้นที่ใกล้เคียง

MBK คึกคักนักช้อปเพียบ จ่อลงทุน-ต่อสัญญาจุฬาฯ

โดยเริ่มรีโนเวทพื้นที่ศูนย์กว่า 2.6 แสนตารางเมตร พร้อมปรับกลยุทธ์และคอนเซ็ปต์ใหม่เป็น “LIVING in HARMONY ใส่ใจการใช้ชีวิต กินดี อยู่ดี สุขภาพดี” เชื่อมโยงการบริการด้านสุขภาพ สร้างให้เป็นแลนด์มาร์ค Health and Wellness แบบองค์รวม ทั้งการสร้างเสริม ป้องกัน ดูแล รักษา บำบัด ฟื้นฟู แบบครบวงจรในย่านศรีนครินทร์ เพื่อตอบโจทย์สังคมไทยในปัจจุบันที่ประชาชนดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น

โดยผนึกพันธมิตรที่ให้บริการด้านสุขภาพ อย่าง โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรนอกพื้นที่โรงพยาบาล คลินิกพรีเมียม รามาธิบดี เฮลธ์ สเปซ @พาราไดซ์ พาร์ค ในการดูแลสุขภาพและการบริการแพทย์ที่ครบวงจร ผ่านคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกสุขภาพใจ พิชญานิน คลินิก ศูนย์การได้ยินเดียร์ Dear Hearing S’RENE by SLC คลินิกสุขภาพสำหรับคนเมือง ที่ให้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย เป็นต้น