"เสริมสุข" ชื่อที่คนไทยคุ้นเคยในฐานะผู้สร้างตำนานเป๊ปซี่ในประเทศไทย เมื่อกว่า 6 ทศวรรษที่แล้ว บริษัทไทยรายนี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานอุตสาหกรรมน้ำอัดลมในไทย และผลักดันให้เป๊ปซี่ขึ้นแท่นเป็นผู้นำตลาด
อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 เสริมสุขและเป๊ปซี่ได้ตัดสินใจแยกทางกัน ทำให้เสริมสุขต้องสร้างแบรนด์น้ำดำของตัวเองขึ้นมาใหม่ นั่นคือ "เอสโคลา"
เสริมสุข พาเป๊ปซี่ขึ้นแท่นแชมป์ตลาดน้ำดำ ก่อนถูก “ไทยเบฟ” ซื้อและถอดออกจากตลาดเป็นราชาไร้มงกุฎ การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาด การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น
บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินธุรกิจน้ำอัดลมเมื่อปี 2495 และมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานอุตสาหกรรมน้ำอัดลมในประเทศไทยมากว่า 6 ทศวรรษ ตลอดจนเป็นตำนานผู้สร้างแบรนด์ระดับโลกให้ครองความเป็นผู้นำในตลาดเมืองไทย
นอกจากนี้ เสริมสุขได้ขยายธุรกิจสู่การผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มไม่อัดลมชั้นนำมากมาย อาทิ น้ำดื่มคริสตัล เครื่องดื่มเกลือแร่ และชาพร้อมดื่มโออิชิ และก้าวเป็นบริษัทเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ครบวงจรรายแรกของประเทศ
ต่อมาบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติกส์ จำกัด ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัทฯ และผนึกรวมเป็น 1 ใน 5 บริษัทหลักในกลุ่มบริษัทไทยเบฟในปี 2555 จากนั้นเสริมสุขจึงได้มีการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนภาพลักษณ์และวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของผู้บริโภคในปีเดียวกัน
ปัจจุบัน เสริมสุขดำเนินการผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มคุณภาพภายใต้กลุ่มธุรกิจหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มน้ำอัดลม เป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ กลุ่มน้ำดื่ม กลุ่มเครื่องดื่มไม่อัดลม และกลุ่มการจัดจำหน่าย
ก่อนหน้านี้ เสริมสุขประสบความสำเร็จในการทำตลาดเป๊ปซี่เป็นอย่างมาก ทำให้เป๊ปซี่กลายเป็นแบรนด์น้ำอัดลมอันดับหนึ่งในใจผู้บริโภคชาวไทย แต่เมื่อตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป เสริมสุขจึงมองเห็นโอกาสในการสร้างแบรนด์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมากขึ้น
"เอสโคลา" ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของเสริมสุข โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างแบรนด์น้ำดำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ ได้
ปัจจุบัน ตลาดน้ำอัดลมในไทยยังคงมีการแข่งขันที่สูง โดยโคคา-โคล่าครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ตามมาด้วยเป๊ปซี่ และเอส ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของทางเลือกสำหรับผู้บริโภค
ภาพรวมตลาดในปี 2565 ตลาดน้ำอัดลม 57,000 ล้านบาท เติบโต 2% โดยค่ายโคคา–โคล่า มีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 51% ตามด้วยเป๊ปซี่ 37% เอส 8% และบิ๊ก 3% และตลาดเริ่มหันไปพูดเรื่องสุขภาพส่วนผสมน้ำตาลลง รวมไปถึงการโปรโมตสูตรไม่มีน้ำตาลซึ่งเป็นสัดส่วนถึง 36% ในตลาดและเติบโตในระดับสูงถึง 10%
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในปีนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 4-6% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่เติบโตสูงถึง 7.4% เป็นการเพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมนอกบ้านและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและมาจากโฆษณาและการทำตลาดของเจ้าของแบรนด์
นายกฤษณ์ จุลพาณิชยกรรม เลขานุการบริษัท บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SSC รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ด้วยบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ในรูปแบบการประชุมระบบ Hybrid ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้พิจารณาและมีมติในแต่ละวาระการประชุม
โดยผลสรุปออกมามีผู้ลงคะแนนเสียงเห็นด้วย จำนวน 259,032,373 เสียง คิดเป็นสัดส่วน 97.4170%, ผู้ลงคะแนนไม่เห็นด้วย จำนวน 14,195 เสียง คิดเป็น 0.0053% และผู้ลงคะแนนงดออกเสียง จำนวน 3,510 เสียง คิดเป็น 0.0013% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท
ในการนี้ บริษัทจะดำเนินการยื่นแบบคำขอถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (F10-7) ต่อตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทได้รับการอนุมัติ และ/หรือผ่อนผันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การประกาศถอนหุ้น “บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)” หรือ SSC ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยบริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเสริมสุข และเป็นบริษัทย่อยของบมจ. ไทยเบฟเวอเรจ หรือไทยเบฟ เข้าทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญที่เหลือทั้งหมดของบริษัทส่งผลให้ราคาหุ้น SSC พุ่งขึ้นทันที 25%
โดย “โซ วอเตอร์” ทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญที่เหลือทั้งหมดจำนวน 93,945,680 หุ้น หรือคิดเป็น 35.33% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทในราคาเสนอซื้อ 63.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินทุนประมาณ 5,919 ล้านบาท
“โซ วอเตอร์” ระบุถึงเหตุผลหลักในการถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการเนื่องจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนต้องเผชิญกับขั้นตอนและกฎระเบียบที่ซับซ้อน
ซึ่งอาจส่งผลต่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การถอนหุ้นออกจากตลาดฯ จะช่วยลดขั้นตอนเหล่านี้ลง ส่งผลให้บริษัทสามารถบริหารจัดการได้รวดเร็ว ยืดหยุ่น เสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เมื่อปราศจากข้อจำกัดของกฎระเบียบตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทสามารถโฟกัสไปที่การดำเนินธุรกิจหลักได้อย่างเต็มที่
การตัดสินใจครั้งนี้ของไทยเบฟฯ เกิดจากความต้องการที่จะเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารให้เติบโตในระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะให้ธุรกิจเครื่องดื่ม non-alcohol มีสัดส่วนรายได้เท่ากับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในปี 2573
โดยไทยเบฟตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ให้มีสัดส่วน 50 : 50 กับกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ภายในปี 2573 จากเดิมในปี 2566 ที่กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ มีสัดส่วนรายได้เพียง 30%
ด้วยขุมทรัพย์ที่ “เสริมสุข” มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม เอส, ซาสี่, น้ำดื่มคริสตัล, ชาเขียวโออิชิ, เครื่องดื่มอัดลม,เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 100 พลัส, เครื่องดื่มสมุนไพร จับใจ, น้ำโซดา ร็อค เมาเท่น, เครื่องดื่มบำรุงกำลัง แรงเจอร์, เครื่องดื่มเกลือแร่ พาวเวอร์พลัส
ขณะที่ศักยภาพของ “เสริมสุข” ในวันนี้ไม่ได้มีดีแค่สินค้าในพอร์ตที่ครบทุกเซ็กเม้นท์เครื่องดื่ม แต่ยังมีความพร้อมรอบด้าน เห็นได้จากผลประกอบการย้อนหลังนับจากปี 2565 ที่มีรายได้ 11,059 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท ปี 2566 มีรายได้ 12,593 ล้านบาท กำไร 248 ล้านบาท และ 6 เดือนแรกของปี 2567 (ต.ค. 2566-มี.ค. 2567) มีรายได้ 6,374 ล้านบาท กำไร 179 ล้านบาท