สถิติใหม่ "งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ" ทะลักวันเดียว 1.7 แสนคน

15 ต.ค. 2567 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2567 | 12:09 น.

มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 สร้างสถิติใหม่ในวันหยุด อาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม เพียงวันเดียว คนทะลัก 1.7 คน คาดเงินสะพัดสูงสุดกว่า 100 ล้านบาท

นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าว่า งาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29” ที่ได้รับการสนับสนุนกิจกรรมจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยการทำงานของอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ ภายใต้ THACCA ระหว่างวันที่ 10-20 ตุลาคม 2567 ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้ธีม “อ่านโลกนี้ ยันโลกหน้า” สร้างสถิติใหม่

สถิติใหม่ \"งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ\" ทะลักวันเดียว  1.7 แสนคน

โดยมียอดนักอ่านเข้าร่วมงานในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เป็นจำนวนมาก ซึ่งในวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เพียงวันเดียวมียอดผู้เข้าร่วมงานทะลุ  1.73 แสนคน เทียบกับงานครั้งก่อนที่ 1.62 แสนคน ส่งผลให้มีเงินสะพัดกว่า 100 ล้านบาท เฉลี่ยการใช้จ่ายในงานจะอยู่ที่ประมาณ 600 บาทต่อคน ทำให้มั่นใจเป็นอย่างมากว่าตลอดการจัดงานทั้งสิ้น 11 วัน จะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 1,6 ล้านคน เพิ่มจากการจัดงานครั้งก่อนที่มีผู้เข้าร่วมงาน 1.3 ล้านคน และครั้งนี้คาดการณ์ไว้ว่ามีเงินสะพัดกว่า 460-480 ล้านบาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

สำหรับ มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 นอกจากจะมีหนังสือมากกว่า 2 ล้านเล่ม ให้เลือกซื้อ ยังมีหนังสือปกใหม่กว่า 3,000 เล่ม จากสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งยังนำเสนอหนังสือรูปแบบใหม่ที่ใช้นวัตกรรม Interactive Book สร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักอ่านเข้ามาผสมผสานกัน เพื่อประกอบหรือเสริมเนื้อหา เช่น การจัดทำคิวอาร์โค้ด เพื่อนำไปสู่คลิปวิดีโอทั้งขนาดสั้นและยาว, หนังสือเสียง, พอดแคสต์, ภาพประกอบ และอินโฟกราฟิก เพิ่มความน่าสนใจ สนุกสนาน และเสริมสร้างการเรียนรู้ ทั้งหนังสือเด็กเสริมทักษะ หนังสือภาษาอังกฤษ หนังสือพัฒนาตนเองและหนังสือนวนิยาย เป็นต้น ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมากจากนักอ่าน

สถิติใหม่ \"งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ\" ทะลักวันเดียว  1.7 แสนคน

“สำนักพิมพ์ต่างๆ กำลังปรับตัวจากการผลิตหนังสือรูปเล่มธรรมดา เป็นการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้นำเสนอมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของหนังสือ รวมทั้งสร้างแรงดึงดูดความสนใจจากนักอ่าน เห็นได้ชัดจากหนังสือเสริมทักษะด้านต่างๆ ของเด็กโดยเฉพาะการสอนภาษาต่างประเทศทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ซึ่งช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กได้ดีและรวดเร็วขึ้น” 

ตัวอย่างหนังสือจากสำหนักพิมพ์ แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด เช่น หนังสือชุดหนูน้อยหัดอ่าน ที่เป็นหนังสือขายดีอยู่แล้วแต่ปัจจุบันได้นำ Interactive Book เข้ามาประกอบเนื้อหา โดยออกแบบคิวอาร์โค้ด เพื่อนำไปสู่คลิปวิดีโอ นำไปสู่เนื้อหาในหนังสือเพื่อการฟัง พูด อ่าน เขียน และบทสนทนา พร้อมกับมีกิจกรรมพิเศษท้ายบทให้ร่วมสนุกเพื่อเสริมการพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็ก หรือจากสำนักพิมพ์เมต้า เอ็ดดูเคชั่น ไทยแลนด์ กับโปรแกรมเสริมภาษาอังกฤษสำหรับเด็กอนุบาล เพื่อการฝึกฟัง พูด และสนทนา ผ่านหนังสือและจอโทรทัศน์ด้วยกล่อง KIVA BOX บรรจุข้อมูลแบบเรียนและแผนการเรียนการสอนจำนวน 1 ปี ซึ่งเหมาะกับครูผู้สอนในการวางแผนการเรียนการสอน
  สถิติใหม่ \"งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ\" ทะลักวันเดียว  1.7 แสนคน  น.ส.ฐิตาริยา มัจพันธุ์ ตัวแทนจากสำนักพิมพ์แสงดาว กล่าวว่า สำนักพิมพ์ทดลองนำเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดมาใช้กับหนังสือเรื่อง “มาดามสามก๊ก ฉบับศาสตร์ยอดผู้นำ” นำเสนอให้ผู้อ่านครั้งแรกในงานมหกรรมหนังสือ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักอ่านจำนวนมาก เนื่องจากเป็นความแปลกใหม่ ทันสมัย ต่อยอดจากหนังสือที่ขายดีอยู่แล้ว ทุกท้ายบทของหนังสือจะมีคิวอาร์โค้ดเพื่อสแกนนำไปสู่ลิงค์ใน YouTube บทสรุปย่อ ทั้งภาพและเสียง โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นของนักเขียนในเนื้อหาของบทนั้นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการสื่อสารกับนักเขียน ทำให้ใกล้ชิดกับนักอ่านมากยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนหนังสือมีชีวิต
  สถิติใหม่ \"งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ\" ทะลักวันเดียว  1.7 แสนคน
“ในยุคโซเชียลมีเดีย สำนักพิมพ์ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปสู่โลกใหม่ การทำอะไรที่ตอบโจทย์นักอ่านรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เป็นสิ่งสำคัญ แม้ผลตอบรับของเล่มแรก ยังอยู่ในระดับกลางๆ แต่เรามีความเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะเป็นที่ยอมรับของนักอ่านเพราะมีความแปลกใหม่ สแกนข้อมูลจะไปลิงค์สรุปเนื้อหาที่เราได้อ่านไปแล้ว มีภาพ มีเสียง ออก Action ทำให้นักอ่านสนุกและสร้างประสบการณ์ใหม่”