เปิดชาเลนจ์ “โอสถสภา” 5 ปีพิชิต 4 หมื่นล้าน

19 ต.ค. 2567 | 09:42 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2567 | 11:20 น.

ผ่าแผนองค์กร 130 ปี “โอสถสภา” เดินหน้ายุทธศาสตร์ 5 ปี พิชิต 4 หมื่นล้าน กับความท้าทายใหม่ ท่ามกลางสมรภูมิรบดุเดือด พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงหันหาสินค้าสุขภาพและความยั่งยืน เล็งยกเครื่อง M-150 บูมตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง พร้อมสยายปีกรุกตลาดต่างประเทศเต็มสูบ

นางสาวรติพร ราษฎร์เจริญ กรรมการบริหาร กรรมการบริหารความเสี่ยงและ Group Chief Financial Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด(มหาชน) หรือ OSP เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เส้นทางของบริษัทในฐานะ ยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องดื่มและสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหม่ในยุคที่ผู้บริโภคมองหาสุขภาพและความยั่งยืนมากขึ้น

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ประกาศยุทธศาสตร์ 5 ปี มุ่งสู่เป้าหมายรายได้ 4 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

 “ภาพรวมกำลังซื้อและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความท้าทาย โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อผู้บริโภค เช่น นโยบายภาครัฐและสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและไม่มีเสถียรภาพ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีนัก แต่ภาครัฐก็พยายามที่จะช่วยเหลือผู้บริโภค แม้ว่าจะไม่มากเท่ากับแคมเปญในอดีต”

เปิดชาเลนจ์ “โอสถสภา” 5 ปีพิชิต 4 หมื่นล้าน

 

 นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคยังสะท้อนถึงความต้องการที่สูงขึ้นในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นสิ่งนี้คือโอกาสที่หลายธุรกิจเข้ามาหยิบจับเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ

 ทั้งนี้โอสถสภา ดำเนินธุรกิจมากว่า 130 ปี พร้อมเดินหน้าประกาศยุทธศาสตร์การเคลื่อนธุรกิจระยะยาว เสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจหลัก ขยายการลงทุนต่างประเทศ ลุยธุรกิจในอนาคตและโอกาสในการลงทุนเชิงกลยุทธ์ เพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมายรายได้ 4 หมื่นล้าน ภายในปี 2571

 “โอสถสภาจะโฟกัสธุรกิจหลักและนวัตกรรมในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นการพัฒนาและขยายธุรกิจหลัก ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง ฟังก์ชันนัลดริงค์ และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล โดยมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่ และขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV”

 หากเจาะจงที่สินค้าลูกหม้อของโอสถสภา หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของแผนธุรกิจครั้งนี้คือการพัฒนาแบรนด์ M-150 ให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยนางสาวรติพร บอกว่า แม้ M-150 จะเป็นที่รู้จักในฐานะเครื่องดื่มชูกำลังสำหรับกลุ่มคนทำงาน แต่บริษัทมีแผนพัฒนาแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น และสร้างการรับรู้ในระดับสากลมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ในปี 2566 กลุ่มเครื่องดื่มยังเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้ 21,130 ล้านบาท

เปิดชาเลนจ์ “โอสถสภา” 5 ปีพิชิต 4 หมื่นล้าน

 “เดิมทีตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในความคิดของใครหลายคนคือเครื่องดื่มของ “คนใช้แรงงาน” ในราคาจับต้องได้ ซึ่ง M-150 เริ่มทำตลาดในปี 2549 และเริ่มเติบโตต่อเนื่องในตลาดไทย ซึ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในบ้านเราถือเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดมากเลื่องชื่อในมุมของ “สงครามราคา” หน้าเก่าหน้าใหม่ตบเท้าบุกตลาดอย่างต่อเนื่อง สู่การเปลี่ยนผ่านจากราคา 10 บาท สู่ 12 บาท”

 ขณะที่โอสถสภาก็ยังไม่ทิ้งตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง 10 บาท ต่อให้คลอด M-150 ในราคา 12 บาทแล้วก็ตาม กลุ่มเป้าหมายหลักของเครื่องดื่มชูกำลังคือผู้ชายเป็นหลัก ซึ่งกุญแจสำคัญในการเติบโตที่ครอบคลุมคือการขยายกลุ่มลูกค้าสู่กลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้นซึ่ง “กลุ่มผู้หญิง” เป็นหมุดหมายใหม่ที่น่าจับตา

 “เราเปลี่ยนผ่านมาทุกความท้าทายสินค้าที่ติดตลาดมาหลายปี มีการปรับขึ้นราคาย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่เราก็ท้าชนเดินหน้ามาได้ มาถึงยุคปัจจุบัน แบรนด์ M-150 ที่คนเรียกติดปากว่า M-100 มีชื่อใหม่อย่าง “มิโซ” ถือเป็นสีสันที่พลิกวงการเครื่องดื่มชูกำลังอีกครั้ง”

 โอสถสภา ปฏิวัติ M-150 สู่ “มิโซ” เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ด้วยการดึง “พี่จอง-คัลแลน” 2 ยูทูปเบอร์ชื่อดังจากเกาหลีใต้ มาร่วมสร้างสรรค์ปรากฏการณ์ “มิโซอับลม” ที่กระหึ่มโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นกระแสไวรัลที่ส่งผลให้ยอดขายเครื่องดื่ม M-150 SPARKLING พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 โดยในปี 2568 โอสถสภามีแผนปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ M-150 ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจถึง Benefit มากขึ้น คาดว่าจะได้เห็นภาพชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ถึงต้นปีหน้า ขณะที่กลุ่มกระป๋องได้เปิดตัวเครื่องดื่ม M-150 Sparkling Energy Drink พร้อมพรีเซนเตอร์ “พี่จอง-คัลแลน” ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้เล่นกีฬา และกลุ่มผู้หญิง ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก และล่าสุดได้เปิดตัวแพคเกจสินค้าใหม่ ซึ่งนำรูป 2 ยูทูปเปอร์พรีเซนเตอร์ขวัญใจชาวไทยมาอยู่บนกระป๋อง และคาดว่าในปี 2568 จะขยายรสชาติใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น

 อย่างไรก็ดีกลุ่มเครื่องดื่มแบ่งออกเป็น Energy Drink และ Functional Drink โดยมีอัตราการเติบโตเป็นเลข 2 หลัก โดยกลุ่ม Functional Drink มี 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ C-Vitt, Peptein และ Calpis Lacto โดยจะพยายามสื่อสาร Benefit ของสินค้าให้ชัดเจน และพร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่มาก ทั้งในรูปแบบขวดและกระป๋อง

 ขณะที่ C-Vitt ได้เพิ่มสูตรใหม่ วิตามินซี 1,000 มิลลิกรัม ทำให้สามารถขยายช่องทางการขายได้มากขึ้น โดยเฉพาะในร้านขายยา อย่างไรก็ตาม การปรับกลยุทธ์ขายสินค้า ทำให้หนุนการเติบโตมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้สนใจเรื่องราคา หากสรรพคุณสินค้าดี อีกทั้งบริษัทได้เน้นทำการสื่อสารให้กลุ่มผู้บริโภคเข้าใจมากขึ้น ส่วนกลุ่ม Personal care ก็มีอัตราเติบโตเป็นเลข 2 หลักเช่นกัน

 “ปีนี้โอสถสภามีสินค้าใหม่ครอบคลุมทุกกลุ่มกว่า 20-30 รายการ ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 30% เนื่องจากต้องการกระตุ้นตลาดในฐานะผู้นำ”

 นางสาวรติพร กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงความแข็งแกร่งของธุรกิจหลัก รักษาความเป็นผู้นำด้วยกลยุทธ์แบรนด์พอร์ตโฟลิโอ เพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ฟังก์ชันนัลดริงค์ ขยายการลงทุนธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้น 3 ประเทศได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และสปป. ลาว รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุนเชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

 นอกจากการเติบโตทางธุรกิจแล้ว โอสถสภายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าที่จะเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ และการส่งเสริมสุขภาพของชุมชน โดยเริ่มต้นในปี 2562 ได้กำหนดกรอบการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน วาง “เป้าหมาย” อย่างชัดเจน ก้าวแรกคือปี 2568 การทำงานจะต้องเห็นผลสัมฤทธิ์ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม(Environment) เติบโตคู่สังคม(Social) และยึดมั่นในธรรมาภิบาล(Governance) ตามหลัก ESG

 ซึ่งในปีนี้ 2567 ผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี บางส่วนยัง “เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้” ยิ่งกว่านั้น “โอสถสภา” ยังมองก้าวต่อไป ในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อแก้วิกฤตโลกภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate change) ควบคู่การมุ่งเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2593 ด้วย

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,037 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2567