Healthy Food ทางเลือกผู้บริโภค ทางรอดผู้ผลิตไทย

05 ม.ค. 2568 | 10:00 น.

จับตาพฤติกรรมคนไทยหันหา “อาหารเพื่อสุขภาพ” ดันตลาดโตแรง ทั้งอาหารจากธรรมชาติ อาหารป้องกันโรค เสริมสุขภาพ แนะผู้ประกอบการปรับแผนพัฒนาสินค้ารับเทรนด์ทั้งด้านโภชนาการ ความพึงพอใจ แหล่งที่มาของอาหาร และนำเทคโนโลยีการเกษตรมาใช้

ยุคนี้ใครๆ ก็หันมาใส่ใจสุขภาพ ทำให้ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) เติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศไทย

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกิจอาหารในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 5.72 แสนล้านบาท เติบโต 4.8% จากปี 2567 เมื่อเจาะลึกลงไปในธุรกิจอาหารสุขภาพ พบว่าในปี 2566 มีมูลค่าตลาดราว 4,500 ล้านบาทเติบโตมากถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2564 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาเลือกบริโภคอาหารที่เป็นธรรมชาติ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และช่วยป้องกันโรคต่างๆ

 ขณะที่ databridgemarketresearch.com ระบุว่า ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 8.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีกเป็น 1.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2574 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9.50% ต่อปี สอดคล้องกับเทรนด์อาหารสำคัญ ที่คนหันมาใส่ใจสุขภาพ รับประทานอาหารที่มาจากธรรมชาติ คำนึงถึงสุขภาพแบบองค์รวม และเน้นการป้องกันสุขภาพมากขึ้น

 10 เทรนด์อาหารสุขภาพมาแรง

 สำหรับ 10 เทรนด์อาหารสุขภาพมาแรงในปี 2567-2568 นี้ ได้แก่ 1. นมทางเลือกจากพืช 2. สารให้ความหวานที่มาจากธรรมชาติ 3. เห็ดชนิดพิเศษเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ 4. กาแฟสกัดเย็น 5. การใส่เครื่องเทศลงไปในอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่คาดคิด 6. ช็อคโกแลต Plant-Based 7. การใส่เมล็ดบักวีตในขนมปัง 8. การใส่ผักดองในทุกสิ่ง 9. การรับประทานเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และ 10. อาหารทะเลทางเลือก Plant-Based

Healthy Food ทางเลือกผู้บริโภค ทางรอดผู้ผลิตไทย

 หลังเกิดโควิด พบว่าคนไทยเองก็เริ่มให้ความสนใจอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น เน้นอาหารจากธรรมชาติ คุมน้ำหนัก หรือช่วยป้องกันโรค เพราะกลัวติดเชื้อโควิด ซึ่งก็เป็นโอกาสของธุรกิจอาหารสุขภาพ ในการเจาะกลุ่มลูกค้าสายคลีน

 ขณะที่ผู้บริโภคคนไทยยังเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่คุ้นเคยเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นผักใบเขียว ธัญพืช โปรตีนทางเลือก เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ฯลฯ ทำให้ตลาดเหล่านี้มีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งในปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายรายเริ่มปรับตัวหันมาเสิร์ฟเมนูอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเดิมก็ปรับตัวรับกับดีมานด์และการแข่งขันที่สูงขึ้น

 นายปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ เจ้าของร้าน สลัด แฟคทอรี่ สะท้อนถึงตลาดอาหารสุขภาพให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังว่า ตลาดอาหารสุขภาพในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้จึงมีโอกาสในการขยายธุรกิจและสร้างรายได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแข่งขันกันอย่างสูง ผู้ประกอบการจะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตในตลาดที่แข่งขันสูงนี้ได้

 “วิเคราะห์จากรายได้ของผู้ประกอบการในธุรกิจที่หลายแบรนด์เติบโตมากกว่า 50% จากปี 2564 ในช่วงหลายปีที่ผ่าน จากเดิมเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาตลาดร้านสลัดและร้านเฮลท์ตี้ฟู้ดเชนมีไม่เกิน 5 แบรนด์เท่านั้น จนปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 20 แบรนด์ มีสาขาทุกแบรนด์รวมกันมากกว่า 100 สาขา”

อินไซด์ 4 เทรนด์ผู้ประกอบการต้องรู้

สถานการณ์แนวโน้มของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 พบว่า ผู้บริโภคมีแนวคิดในการเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะผสมผสานระหว่างสุขภาพและความพึงพอใจ เปิดใจรับอาหารจากแหล่งใหม่ ๆ อาหารที่ผ่านการใช้เทคโนโลยีการเกษตร (Ag-Tech) รวมถึงอาหารดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) รวมทั้งมีความเข้าใจและยอมรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น จึงยอมรับในวัตถุดิบและรสชาติอาหารจากแหล่งใหม่ ๆ ทั้งจากท้องถิ่นและทั่วโลก ขณะที่ 4 เทรนด์สำคัญ ได้แก่

  1. ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ คำนึงถึงประโยชน์ด้านสุขภาพและคุณค่าโภชนาการก่อนจะพิจารณาว่าอาหารดังกล่าวมีการแปรรูปมากเกินไปหรือไม่ (Ultra-processed Food) โดยคำนึงถึงสารอาหารเป็นหัวใจสำคัญ โดยพบว่าผู้บริโภคไทย 33% จะใช้จ่ายกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
  2. เน้นความพึงพอใจควบคู่กับสุขภาพที่ดี ความพึงพอใจ ความสะดวกสบาย การได้ลิ้มรสอาหารอร่อยทุกวัน หรือการไม่รู้สึกผิดต่อการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
  3. ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของอาหาร ผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลแหล่งที่มาของอาหารที่แท้จริง ข้อมูลต้องโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลก ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจว่า ผู้ผลิตอาจต้องให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของธุรกิจมากกว่าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
  4. คาดหวังและเต็มใจที่จะบริโภคอาหารที่ผ่านเทคโนโลยีการเกษตร (Ag-Tech) การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารสมัยใหม่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นตัวกระตุ้นทำให้เห็นการผลิตอาหารจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร จึงทำให้ผู้บริโภคคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบอาหารเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถออกผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตอาหารของไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งแหล่งที่มาของอาหารที่ต้องมีความโปร่งใส รวมทั้งเปิดกว้างต่ออาหารที่ผ่านเทคโนโลยีการเกษตร และอาหารที่มีการดัดแปรพันธุกรรมเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพใหม่ ๆ ให้ตรงกับดีมานด์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ได้

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,059 วันที่ 5 - 8 มกราคม พ.ศ. 2568