รุมต้าน AOT ฮุบ 3 สนามบินรัฐลงทุนหมื่นล้านเอื้อกลุ่มทุน

03 ก.ย. 2565 | 01:08 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2565 | 15:07 น.

รุมต้านมติ ครม.ยก 3 สนามบินกระบี่ อุดรธานีบุรีรัมย์ ให้ AOT เอื้อกำไรให้กลุ่มทุน 30% หลังประเคนใช้ทรัพย์สินและงบรัฐลงทุนกว่า1 หมื่นล้าน หวั่นประชาชนรับกรรมค่าบริการพุ่ง เพิ่มค่าเช่าร้านค้าท้องถิ่นไปไม่รอด “ศักดิ์สยาม” ตีปีกสร้างรายได้ให้ทอท.เพิ่มขึ้น 4 หมื่นล้านบาท

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.) หรือ AOT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม โดยอ้างถึงเป็นการลดภาระงบประมาณของภาครัฐ ที่จัดสรรให้ทย.ในการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน โดยทอท.มีข้อเสนอจะพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท

มติดังกล่าวแม้จะไม่ได้มีการโอนทรัพย์สินของรัฐไปให้ทอท. เพราะตามกฎหมายไม่สามารถทำได้เนื่องจากทอท.ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้ว แต่ก็เป็นการอาศัยอำนาจตามมติครม.เพื่อกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินให้สนามบินที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของทย.ไปให้ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลบริหารจัดการแทนเบ็ดเสร็จ จึงเกิดกระแสวิพากวิจารณ์ถึงความไม่ชอบธรรมที่ทอท.จะฮุบสนามบินของรัฐ เพื่อแสวงหากำไร

 

รุมต้าน AOT ฮุบ 3 สนามบินรัฐลงทุนหมื่นล้านเอื้อกลุ่มทุน

 

หวั่นผิดพ...ฮั้วประมูล

 

นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มติครม.ดังกล่าว ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการดำเนินงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การผิดพ.ร.บ.ฮั้วประมูลหรือไม่ และเปิดกว้างให้กับทุกภาคส่วนหรือไม่ รวมทั้งการที่นำทรัพย์สินของทางราชการไปยกให้เอกชนแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้เปิดกว้างผิดหรือไม่ อีกทั้ง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้ทำการศึกษาเรื่องนี้หรือไม่

กระทบค่าบริการ-ค่าเช่าพุ่ง

 

แหล่งข่าวจากธุรกิจการบิน เปิดเผยว่า การให้ทอท.ดูแลและบริหาร 3 สนามบิน แทนทย.จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการต้องจ่ายแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแตกต่างจากในอดีตที่มีการโอน 4 สนามบินของรัฐ ได้แก่ สนามบินภูเก็ต,สนามบินหาดใหญ่,สนามบินเชียงใหม่และแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ให้กับทอท. ซึ่งขณะนั้นโอนได้เพราะรัฐถือหุ้นในทอท.100% และบริหารจนทำกำไรสร้างมูลค่าให้ทอท.ได้กว่า 9.5 แสนล้านบาท

 

รุมต้าน AOT ฮุบ 3 สนามบินรัฐลงทุนหมื่นล้านเอื้อกลุ่มทุน

ขณะที่ครั้งนี้สัดส่วนการถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไป กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ในทอท. 70 % และกลุ่มนักลงทุน 30% ดังนั้นส่วนแบ่งกำไร 30% ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะเป็นของผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ของประเทศชาติและประชาชน

 

อีกทั้ง การที่ทอท.ต้องสนับสนุนเงินเพื่อนำมาเป็นเงินเข้ากองทุนหมุนเวียนของทย. เพื่อบริหารจัดสนามบินที่เหลือของทย.ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทางกรมบัญชีกลาง รวมไปถึงการปรับบริการของสนามบินใหม่ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจึงส่งผ่านไปยังผู้โดยสารและสายการบินอย่างแน่นอน

 

“ปัจจุบันค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (พีเอสซี) ในประเทศ ทย.เก็บ 50 บาท แต่ถ้าทอท.ดำเนินการจะกลายเป็น 100 บาท เส้นทางระหว่างประเทศจาก 400 บาท เป็น 700 บาท ค่าบริการต่างๆ อย่างค่าแลนด์ดิ้ง ปาร์กกิ้ง ค่าเช่าพื้นที่ต่างๆ ทั้งสายการบินและผู้ให้บริการเชิงพาณิชย์ ก็ต้องปรับเพิ่มตามอัตราที่ทอท.จัดเก็บ เรียกได้ว่าในอนาคตถ้าร้านค้าต่างๆ ใน 3 สนามบินเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่เป็นโอท็อปในพื้นที่ ถ้าจ่ายค่าเช่าไม่ไหวหรือหมดสัญญาก็จะต้องหายไป เพื่อเปิดทางให้รายใหญ่เข้ามาเสียบแทน”

 

ทอท.หยิบชิ้นปลามัน

 

นอกจากนี้ สนามบินอุดรธานี เป็นสนามบินของทย.ที่มีผู้โดยสารใช้บริการสูงสุด ในปี 2563 มีผู้โดยสารขาเข้า-ขาออก อยู่ที่ 1.41 ล้านคน ส่วนสนามบินกระบี่ มีผู้โดยสารอยู่ที่ 1.12 ล้านคน จะเป็นสนามบินที่ทำกำไรสูงสุดให้ทอท.ด้วย ขณะที่สนามบินบุรีรัมย์แม้จะยังขาดทุนอยู่ แต่ก็ต้องรับมาด้วยเหตุผลทางการเมือง

 

อีกทั้งที่ผ่านมารัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้ทย.นำไปใช้พัฒนาใน 3 สนามบินนี้รวมแล้วเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้รวมการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผูกพันไว้แล้วราว 6,020.25 ล้านบาท ที่ยังเหลือต้องดำเนินการอยู่ในอีก 14 โครงการที่จะทยอยแล้วเสร็จในปี 2565-2567

 

ดังนั้น การโอนสนามบินที่มีการพัฒนาไปแล้ว เพื่อนำไปให้ทอท.ต่อยอดทำกำไร มีความเหมาะสมหรือไม่ และการได้สนามบินกระบี่ไป ก็ไม่จำเป็นต้องไปสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่จังหวัดพังงา เพราะกระบี่อยู่ห่างจากภูเก็ตแค่ 100 กิโลเมตร และได้พัฒนาไปมากแล้ว การที่ทอท.จะลงทุนเพิ่มอีก 6 พันกว่าล้านบาท ย่อมดีกว่าการไปสร้างสนามบินใหม่

 

ห่วงลอยแพพนักงาน

 

นายกำแหง สายวิภู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนอุดรธานี ผนึกกำลังค้านการโอนการบริหารสนามบินอุดรธานีไปให้ AOT บริหาร เพราะหวั่นเกรงว่าหากให้ธุรกิจเอกชนเข้ามาบริหาร จะเพิ่มค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้บริการ ขึ้นค่าเช่าพื้นที่พาณิชย์ในสนามบิน ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเสียโอกาส รวมทั้งไม่มั่นใจ AOT จะลงทุนต่อตามแผน อาจทำให้การพัฒนาหยุดชะงัก

 

ส่วนบุคลากรสังกัดทย. ทาง AOT คงไม่รับเข้าไปอยู่ในสังกัด เพราะทาง AOT ได้มีการวางตัวบุคคลว่าใครจะไปอยู่สนามบินใด และใช้บุคลากรมากกว่าทย.มาก ส่วนบุคลากรของท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีที่มีข้าราชการอยู่ 56 คน คงเกลี่ยไปอยู่สนามบินต่าง ๆ ที่เหลืออยู่อีก 26 แห่งทั่วประเทศ ส่วนบุคลากรที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวประมาณ 100 คนยังไม่รู้อนาคต

 

AOTรายได้พุ่งกว่า 4 หมื่นล้าน

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังมติครม.ดังกล่าว จะมีการศึกษาเพิ่มเติมตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ เช่นความเป็นไปได้ของโครงการ เปรียบเทียบกรณีทย.และกรณีที่ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร การคาดการณ์ผู้โดยสาร การประเมินแผนการลงทุนพัฒนาสนามบิน ประมาณการรายได้ รายจ่าย ผลตอบแทนทางการเงิน รวมถึงผลกระทบต่อทย. และทอท. หากแผนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

 

คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือนก่อนรายงานครม.อีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าเมื่อ 3 สนามบินไปอยู่ในการดูแลของทอท.แล้วจะช่วยเสริมศักยภาพพร้อมสร้างรายได้ให้ทอท.เพิ่มขึ้นกว่า 40,000 ล้านบาท

 

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า มติ ครม. ดังกล่าว เป็นการดำเนินงานผ่านสัญญาเช่า กรณีเดียวกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง การให้ ทอท.เช่าดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลกรมธนารักษ์ได้ส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วย จากปัจจุบันรายได้หลักของธนารักษ์กว่า 50% มาจาก ทอท.

 

เปิดเส้นทางฮุบสนามบิน

 

สำหรับจุดเริ่มต้นในการผลักดันสนามบินทย.ให้เข้ามาซบอกทอท.นั้น เริ่มจากในปี 2561 ในยุคซุปเปอร์บอร์ด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยนั้น มีนโยบายที่จะให้โอนสนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร ให้ทอท.บริหาร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้สั่งการในครม.เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ให้ไปศึกษาในข้อกฎหมาย

 

หลังเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วม ได้ผนวกสนามบินบุรีรัมย์เข้าไปอยู่ในลิสต์ที่ต้องโอนให้ทอท.ไปดูแลด้วยจึงมีการต่อรองกันเกิดขึ้นว่าให้เอาสนามบินกระบี่มาด้วย เพราะสนามบินสกลนคร ตาก ชุมพร ทอท.เอาเข้ามามีแต่ขาดทุน

 

กรณีดังกล่าวทำให้อดีตลูกหม้ออธิบดีทย.“อัมพวัน วรรณโก” ถูกเจ้ากระทรวงคมนาคม สั่งย้ายไปนั่งเก้าอี้ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมแทนเมื่อปี 2562  เพราะคัดค้านเรื่องนี้หัวชนฝา โดยเฉพาะการเอาสนามบินกระบี่ ที่ทำกำไรให้ทย.คิดเป็นสัดส่วน 55% และเป็นสนามบินที่เลี้ยงสนามบินทั้งหมดของทย.ออกไปให้ทอท. และไม่เห็นด้วยที่ทอท.วันนี้เป็นบริษัทเอกชนจะนำสนามบินของรัฐไปต่อยอดทางธุรกิจ และทำให้ที่ผ่านมาอธิบดีทย.เปลี่ยนมาหลายคนไม่ว่าจะเป็น ทวี เกศิสำอาง ที่สั่งโยกข้ามหน้าอดีตรมช.ถาวร  ก่อนจะมาเป็น อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย และมาเป็นปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีทย.คนปัจจุบัน

 

อีกทั้งก่อนหน้านี้ในเดือนมิ.ย.65 ก็เคยมีการนำเรื่องการยก 3 สนามบินให้ทอท.บริหารจัดการแต่ถูกครม.ตีกลับ เพราะให้ไปรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำกลับมาเสนอครม.อีกครั้งเมื่อวันที่ 30 ส.ค.65 ในช่วงที่บิ๊กป้อม เข้ามานั่งรักษาการนายกรัฐมนตรี

 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการออกมาคัดค้านในเรื่องนี้ของหลากกลุ่ม แต่ในอีกมุมของผู้ใช้บริการบางกลุ่มก็มองว่ามีข้อดีในการให้ทอท.บริหารและดูแลสนามบินของทย. คือ สนามบินก็จะถูกพลิกโฉมการบริการให้ดีขึ้น รวมถึงการทำตลาดดึงผู้โดยสารต่างชาติมาใช้บริการเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาการบริหารสนามบินโดยทย.ที่เป็นภาครัฐ งบประมาณในการดูแลสนามบินก็มีน้อยมาก ต้องพึ่งเงินจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสนามบิน(PSC)เข้ากองทุนหมุนเวียนสนามบินที่ช่วงปกติก่อนโควิดในปี62 อยู่ที่ราว 1,200-1,400 ล้านบาทต่อปีในการดูแลสนามบินของทย.ซึ่งปัจจุบันทย.มีสนามบิน 29 แห่ง ทำให้การให้บริการจึงสู้สนามบินของทอท.ไม่ได้อยู่แล้ว  แต่ข้อเสียผู้ใช้บริการต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นก็ถือว่าเป็นดาบสองคม