วีซ่าใหม่ตัวช่วยธุรกิจโรงแรม หวั่นเงินเฟ้อกดดันกำลังซื้อ

18 ก.ย. 2565 | 12:10 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2565 | 19:25 น.

การเปิดประเทศ ประกอบกับมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมถึงวีซ่าใหม่ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมเริ่มมีรายได้ขยับขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังมีความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะข้างหน้านี้ด้วยเช่นกัน

อานิสงส์ของการเปิดประเทศ ประกอบกับมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทย ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมเริ่มมีรายได้ขยับขึ้นบ้างแล้ว แม้จะยังกลับมาไม่ถึงก่อนเกิดโควิด-19 ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจ ก็ยังคงมองถึงความไม่แน่นอนที่ยังมีอีกลายประเด็นที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะข้างหน้านี้ด้วยเช่นกัน

ล่าสุดสมาคมโรงแรมไทย (THA) ได้ประกาศผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือนสิงหาคม 2565 โดยพบว่า อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยเพิ่มขึ้น หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และขยายสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันตั้งแต่เดือนก.ค. 65 

 

วีซ่าใหม่ตัวช่วยธุรกิจโรงแรม หวั่นเงินเฟ้อกดดันกำลังซื้อ

 

ทั้งยังคาดการณ์อัตราการเข้าพักในเดือน ก.ย. 65 ว่าน่าจะอยู่ที่ 40-45% โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเข้ามาต่อเนื่องอาจทำให้อัตราการเข้าพักดีกว่าที่คาด

 

ทั้งนี้ลูกค้าของโรงแรมส่วน ใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าชาวไทย แต่มีลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่กลางปี 2565

โดยลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง รองลงมา คือ ยุโรปตะวันตก ส่งผลให้โรงแรมมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการจ้างพนักงานใหม่ที่ต้องใช้เวลาฝึกทักษะเพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในช่วง Q4 ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นนี้

 

ขณะที่ในแง่ของรายได้แม้ธุรกิจโรงแรมจะยังมีรายได้ในระดับตํ่าเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 แต่ส่วนหนึ่งรายได้เริ่มปรับดีขึ้นต่อเนื่องหลังมีการเปิดประเทศ โดยกลุ่มโรงแรมระดับ 4-5 ดาว รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่ง สำหรับจำนวนคืนที่เข้าพักเฉลี่ยต่อโรงแรม ณ ปัจจุบัน พบว่า นักท่องเที่ยวไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 คืนต่อโรงแรม ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 3.3 คืนต่อโรงแรม

 

สำหรับทิศทางของธุรกิจโรงแรมจากนี้ก็ยังมีปัจจัยบวก เมื่อครม.เห็นชอบตามนโยบายการคลัง อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบ ธุรกิจไมซ์ เพื่อกระตุ้นการจัดกิจกรรม ไมซ์ภายในประเทศ รวมถึงการขยายระยะเวลาพำนักในไทยให้กับชาวต่างชาติจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า ให้อยู่ในไทยได้นานขึ้นจากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน และขยายเวลาให้กับผู้ที่มาขอวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival: VoA) จากไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565-31 มี.ค. 2566

 

รวมถึงวีซ่าประเภทใหม่Long-Term Resident Visa: LTR Visa’ ที่ เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายน 2565 ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาตั้งฐานธุรกิจในประเทศ กลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านทักษะและความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้ที่มีความมั่งคั่ง

 

วีซ่าใหม่ตัวช่วยธุรกิจโรงแรม หวั่นเงินเฟ้อกดดันกำลังซื้อ

 

ถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จะทำให้มีนักท่องเที่ยวศักยภาพสูงเข้ามาและมีการพำนักอยู่ในไทยนานขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งรวมถึงธุรกิจเชื่อมโยง อย่างสายการบินที่มีการเปิดเที่ยวบินใหม่และการกลับมาเปิดเที่ยวบินที่เคยระงับทำการบินในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะเส้นทางบินที่มาจากภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียใต้

 

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีปัจจัยบวกที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ธุรกิจโรงแรมก็ยังมองว่า ยังมีหลายประเด็นที่อาจกระทบการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกดดันกำลังซื้อ และนัก ท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาน้อยกว่า คาด เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการ กังวลมากที่สุด รองลงมาคือ การขาดแคลนแรงงาน ตามมาด้วยการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจกระทบกิจกรรมนอกบ้านให้ลดลง

 

ขณะที่ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงค่อนข้างตํ่าเนื่องจากมีแนวโน้มติดได้ยากกว่า และจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยยังน้อย เช่นเดียวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวัน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวเข้ามาในประเทศ

 

รวมไปถึงยังมีอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นราคาสินค้าและพลังงาน การขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า ในมุมมองของผู้ประกอบการมีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มมาก ขึ้นและกระทบต่อกำไร ซึ่งธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว รวมถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจโรงแรมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

 

สมาคมโรงแรมไทย (THA) เห็นว่าการก้าวเข้าสู่ช่วงแห่งการฟื้นฟูเป็นก้าวสำคัญ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนพิจารณาปัญหาร่วมกัน ปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ความเชื่อมั่นของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว นำไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของไทย