เปิดแผน 5 ปี พัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลารับเศรษฐกิจใต้เติบโต

21 ก.ย. 2565 | 13:48 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2565 | 22:25 น.

เปิดแผน 5 ปี พัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลารับเศรษฐกิจใต้เติบโต เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยโดยการปาฐกถาพิเศษ ในกิจกรรมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา “มหัศจรรย์แห่งวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ว่า

 

พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีศักยภาพสูงทั้งด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต รวมทั้งมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้นักท่องเที่ยว สามารถพัฒนาและขับเคลื่อนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะดึงดูดและรองรับการเดินทางมาเยือนของนักท่องเที่ยวระดับคุณภาพสูง

 

หลังจากได้ผลักดันให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช.  มีการประกาศพื้นที่พิเศษ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565  และได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 

จึงได้มอบหมายให้ อพท.  เป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และชุมชนในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ  เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวได้ใช้ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และอำนาจหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ  

 

ทั้งด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ผังเมือง การรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การสาธารณสุข การรักษาความสะอาด และความปลอดภัย อีกทั้ง อพท. จะได้มีโอกาสเข้ามาร่วมพัฒนาเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่ากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยมีแผนปฏิบัติการในการบริหารจัดการการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนร่วมกัน

 

เปิดแผน 5 ปี พัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

การพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ แห่งนี้ จะเป็นไปเพื่อการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวให้กับแหล่งท่องเที่ยว และประชาชนคนในพื้นที่ให้มีมาตรฐานการจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานสากล ตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria หรือ GSTC) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ อพท. นำมาใช้กับการพัฒนาเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  

 

รวมทั้งเป็นการพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมในการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตามกรอบความร่วมมือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT  ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่นานาชาติ  5 จังหวัด คือ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส  

และจังหวัดในภาคใต้ตอนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการเชื่อมโยงการพัฒนากับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ตามนโยบายรัฐบาล หรือ Southern Economic Corridor (SEC) โดยการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นนโยบายระดับชาติ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชน กระจายรายได้ และลดช่องว่างทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจ

 

สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) จะขับเคลื่อนผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ภายใต้การดำเนินงานกว่า 270 โครงการ และกระจายงบประมาณไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อใช้ในการเสนอขอตั้งงบประมาณรวมกว่า 5 พันล้านบาท

 

เปิดแผน 5 ปี พัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลารับเศรษฐกิจใต้เติบโต

ในขณะที่นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ใน 3 มิติหลัก ได้แก่

 

1. ศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ของพื้นที่ทะเลสาบสงขลาเพื่อการท่องเที่ยว สอดคล้องกับแนวคิด “เศรษฐกิจฐานราก” โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วยการท่องเที่ยว โดยใช้ฐานทรัพยากรกลุ่ม BCG และ Happy Model ของรัฐบาล 

 

 2.วิถีชีวิตชุมชน วิถีเกษตร และวิถีประมง ซึ่ง ททท. จะส่งเสริมร่วมกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาให้เกิดกระแสการเดินทางแบบ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” โดยการสร้าง “New Experience” ให้จังหวัดสงขลาเป็น Destination ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้ง 365 วัน 

 

 3.โอกาสในการส่งเสริมการพัฒนาและการลงทุนด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งในกรอบ Southern Economic Corridor (SEC) กรอบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) รวมถึงการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย

 

เปิดแผน 5 ปี พัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลารับเศรษฐกิจใต้เติบโต

 

ททท. มั่นใจว่า ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในครั้งนี้ ททท. จะสามารถฟื้นฟูประเทศและพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย” ให้กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1.5 ล้านล้านบาท จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยไม่น้อยกว่า 160 ล้านคน-ครั้ง และจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2565 นี้

 

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่ากำหนดจัดกิจกรรมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา “มหัศจรรย์แห่งวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” รวม 2 ครั้ง

 

โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน และกำหนดจัดครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ณ จังหวัดพัทลุง เพื่อต้องการสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมให้เกิดในพื้นที่พิเศษแห่งนี้ เป็นการสร้างโอกาสการพัฒนาเครือข่ายและส่งเสริมการตลาด  การยกระดับและเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นำไปสู่การเพิ่มและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและท้องถิ่น

 

เปิดแผน 5 ปี พัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

สำหรับปีงบประมาณ 2566 อพท. จะเริ่มเข้าไปขับเคลื่อนงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยประสานหน่วยงานและภาคีเครือข่าย ให้นำเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล 

 

อย่างหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC  เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนประเทศไทย หรือ CBT Thailand และมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Management Standard: STMS  มาพัฒนาและยกระดับให้กับแหล่งท่องเที่ยว ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

 

โดย อพท. มีเป้าหมายดำเนินการพัฒนามาตรฐาน และสร้างความน่าสนใจให้กับแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการบริการในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาหลักด้านการท่องเที่ยว หรือ Pain Points โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ได้ตามมาตรฐานของกรมการท่องเที่ยวทั้งในประเภทแหล่งธรรมชาติ แหล่งประวัติศาสตร์ และแหล่งวัฒนธรรม เน้นการปรับปรุงและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสม ปลอดภัยสำหรับทุกคน (Universal design) 

 

การขับเคลื่อนในช่วงต้นจะควบคู่ไปกับการเสนอชื่อเมืองที่มีศักยภาพให้เข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ซึ่งจะทำให้เห็นภาพการพัฒนาที่ชัดเจน เนื่องจากการคาดการณ์สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศจะเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว และพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาก็พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว 

 

โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ของ 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช จะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 4-5%  เกิดรายได้กระจายลงสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน