การบินไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 2 คน “ไกรสร บารมีอวยชัย-ศิริ จิระพงษ์พันธ์” พ้นตำแหน่ง
จากกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)เรื่องการพ้นจากตำแหน่งของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2565 ดังนี้
1. นายไกรสร บารมีอวยชัย
2. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์
อนึ่งผู้บริหารแผนที่เหลืออยู่มีอำนาจกระทำการในฐานะผู้บริหารแผนของบริษัทฯ ต่อไปได้ตามมาตรา 90/65 (6) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และ ข้อ 10.6 (2) ของแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ
จากกรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารฟื้นฟูกิจการการบินไทยกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)ในฐานะเจ้าหนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตแผนแก้ไขฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา แม้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ 78.59% ได้โหวตยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ แต่แบงก์กรุงเทพ เป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ 3-4 รายที่ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขดังกล่าว
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้การบินไทย กล่าวว่า ในการโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยก่อนหน้านี้ แม้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะเห็นชอบ แต่เจ้าหนี้ที่คัดค้าน 3-4 ราย หนึ่งในนั้นคือธนาคารกรุงเทพ ซึ่งการยื่นคัดค้านแผนแก้ไขดังกล่าว ลึกๆน่าจะเพราะธนาคารมองประโยชน์ในเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง
เนื่องจากในแผนเดิมจะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินมากถึง 2.5 หมื่นล้านบาท และเป็นส่วนของเจ้าหนี้ภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาทแต่แผนฟื้นฟูใหม่จะเป็นการหาแหล่งเงินใหม่ แปลงหนี้เป็นทุน เพิ่มทุน จากผู้ถือหุ้นเดิม วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งๆที่ธนาคารกรุงเทพก็มีตัวแทนที่เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 คน และเป็นคณะกรรมการเจ้าหนี้อีก 1 คน ซึ่งที่ผ่านมาก็รับทราบรายละเอียดแผนแก้ไขฟื้นฟูกิจการของการบินไทยมาโดยตลอด
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว “การบินไทย” แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยหนึ่งในเนื้อหาคำสั่งศาล มีระบุไว้ด้วยว่าการแก้ไขแผนในส่วนการชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้นั้น มีการกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มเดียวกันให้ได้รับชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกัน โดยได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการไว้ภายใน 31 ธันวาคม 2567 และผู้บริหารแผนต้องมีขั้นตอนดำเนินการโดยต้องศึกษาและกำหนดราคาหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และพนักงานและนักลงทุนใหม่ให้เหมาะสม
ทั้งการกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการดังกล่าวได้ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการเจ้าหนี้ ซึ่งมีธนาคารกรุงเทพฯ ผู้คัดค้านที่ 4 เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเจ้าหนี้มาโดยตลอด อีกทั้ง ตามกฎหมายแล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และผู้บริหารแผนได้ชี้แจงยืนยันแล้วว่าจะมีมติแปลงหนี้เดิมทุกกลุ่มทุกรายพร้อมกันเพื่อให้ชำระหนี้ให้แก่กลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ข้อเสนอขอแก้ไขในส่วนนี้ จึงมีรายละเอียดขั้นตอนและเงื่อนไขครบถ้วน ไม่มีข้อกำหนดใดเป็นการเลือกปฏิบัติ
ประกอบกับเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักของประเทศเช่นเดียวกันก็ไม่ได้มีผู้ใดคัดค้าน นอกจากนี้ เจ้าหนี้ที่มาประชุมและออกเสียงร้อยละ 78.59 เห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผน แสดงว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ รวมถึงเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้และการแปลงหนี้เป็นทุนยังให้การยอมรับและสนับสนุนแนวทางดังกล่าว ถือว่าเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ลูกหนี้มีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นและทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้เร็วขึ้น การแปลงหนี้เป็นทุนจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ
โดยหลังจากศาลล้มละลายกลางมีมติดังกล่าวการบินไทยก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กรณี ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการกิจการ 2 ราย ได้แก่ นายไกรสร บารมีอวยชัย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายธนาคารกรุงเทพ และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ กรรมการธนาคารกรุงเทพ พ้นตำแหน่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย หลังจากนั่งเก้าอี้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทยมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564
ส่งผลให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย จึงเหลืออยู่เพียง 3 คน ได้แก่ นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ,นายพรชัย ฐีระเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร