นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.จะเสนอโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5” ตามมาตรการของขวัญปีใหม่ กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ จำนวน 2 ล้านสิทธิใหม่ วงเงิน 7,200 ล้านบาท ซึ่งพิจารณาจากต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 3,600 บาทต่อคน ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณาวันที่ 22 พ.ย. 2565 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 พ.ย.นี้
เงื่อนไขการใช้สิทธิ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5
ระยะเวลาการใช้สิทธิ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5
ระยะเวลาการใช้สิทธิ เราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 อยู่ที่ 6 เดือน ส่วนจะเริ่มได้เมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม. หากเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 จะสิ้นสุดที่เดือน มิ.ย. 2566 ให้ครอบคลุมช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงพีคซีซั่นที่นักท่องเที่ยวไทยต้องการออกไปเที่ยวต่างประเทศจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ตรึงคนไทยให้เที่ยวในประเทศ
ทั้งนี้คาดว่าโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 จะทำให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 18,000 ล้านบาท นอกจากจะช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแล้ว ยังมีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนการฟื้นตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศด้วย
นอกจากนี้ ททท. จะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว (Tourism Stimulus Package: TSP) แบ่งเป็นสำหรับส่งเสริมตลาดต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท และอีก 500 ล้านบาทใช้สำหรับส่งเสริมตลาดในประเทศ เพื่อเป้าหมายสร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยว ในปี 2566 ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของรายได้ทางการท่องเที่ยวของไทยในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว TSP ถือเป็นมาตรการชุดใหม่ ทดแทนมาตรการบูสเตอร์ช็อต (Booster Shot) เดิม ที่เคยเสนอของบประมาณไปก่อนหน้านี้ 1,000 ล้านบาท โดยวางระยะดำเนินมาตรการตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.2566 เป้าหมายมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ฟื้นฟูประเทศด้วยท่องเที่ยว เน้นการขับเคลื่อนยอดขาย (Drive Sale) กระตุ้นดีมานด์ ลดต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มความถี่ในการเดินทาง เพิ่มวันพักค้าง และกระตุ้นการใช้จ่าย ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) และเศรษฐกิจชุมชน เพื่อสร้างประสบการณ์เดินทางใหม่ที่มีความหมาย (Meaningful Travel) ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ผ่านสินค้าเชิงประสบการณ์ (Experience-based) ที่มีทรงคุณค่าและยั่งยืน
“การดำเนินมาตรการ TSP จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการสร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยว ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านล้านในปี 2566 คิดเป็นการฟื้นตัว 80% ของรายได้รวมฯเมื่อปี 2562 และสนับสนุนปีท่องเที่ยวไทย 2565-2566 ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น กำลังกลายเป็นวิกฤติค่าครองชีพ รวมถึงค่าเงินที่ผันผวน”
มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว TSP จะดำเนินผ่านหลายโครงการ ภายใต้ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 Local to Global จากซอฟต์พาวเวอร์ สู่ประสบการณ์เดินทางที่มีความหมาย (Meaningful Travel) แนวทางที่ 2 Go Local New Chapters ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและสร้างสินค้าเชิงประสบการณ์ท้องถิ่นใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความยั่งยืน (High Value and Sustainable Tourism) และแนวทางที่ 3 New Demand Booster กิจกรรมส่งเสริมการขาย กระตุ้นตลาดทั้งในและต่างประเทศ ลดต้นทุนการเดินทาง เพิ่มโอกาสในการท่องเที่ยวในประเทศ สนับสนุนปีท่องเที่ยวไทย (Visit Thailand Year 2022-2023) อย่างเป็นรูปธรรม
“เมื่อรวมงบประมาณที่ขอรับการจัดสรรจากรัฐบาล ทั้งมาตรการของขวัญปีใหม่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงิน 7,200 ล้านบาท และมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว TSP วงเงิน 1,500 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินขอรับการสนับสนุนทั้งสิ้น 8,700 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวทั้งตลาดในและต่างประเทศ” นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย