รายงานจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ระบุว่า คาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยฟื้นเร็วโตเฉียด 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566 แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19
จากปัจจัยหนุนจากกระแส การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ การพัฒนาใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะเทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงการป้องกัน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ยังระบุว่า ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเร็วเกินคาด หลังจากเปิดประเทศไปในช่วงกลางปี 2565
ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ที่ไทยได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวทั่วไป
โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยลดลงมาก สาเหตุจากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในปี 2563 รายได้ลดลงกว่า 90% แต่เริ่มทยอยปรับดีขึ้นในปี 2564
ส่วนในปี 2565 คาดว่ารายได้จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของรายได้ก่อนวิกฤตโควิด-19 ในปี 2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 แตะ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับก่อนการเกิดวิกฤตโควิด-19
อย่างไรก็ตามระบบดูแลสุขภาพของไทยติดอันดับ Top 5 ของโลก และมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดใน 10 ประเทศ
โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีการดูแลด้านสุขภาพที่ดี หรือมีความมั่นคงทางสุขภาพสะท้อนจาก Global Health Security (GHS) Index 2021 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ไทยอยู่ในอันดับ 5 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ด้วยความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดรวมทั้งระบบสาธารณสุขและการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในภาพรวมอยู่ในระดับดี
นอกจากนี้ค่ารักษาพยาบาล พบว่ามีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดใน 10 ประเทศ โดยเฉลี่ยรายละ 296 เหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 9 ด้วยค่าใช้จ่าย 3,406 เหรียญสหรัฐ
อีกทั้งด้านที่เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ให้ภาพสอดคล้องกัน คือ ไทยติดอันดับประเทศในเอเชียที่มีรายได้สูงโดยอยู่ที่ 589 ล้านเหรียญสหรัฐ นำหน้าเกาหลีใต้ที่อยู่ที่ 415 ล้านเหรียญสหรัฐ