ไม่จบ!มหากาพย์ประมูลโรงแรมหรู "ดาราเทวี" ผู้ถือหุ้นอีกฝั่ง IFEC ออกโรงค้าน

07 ก.พ. 2566 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2566 | 06:49 น.

มหากาพย์ประมูลโรงแรมหรู "ดาราเทวี เชียงใหม่"ยังไม่จบ กลุ่มผู้ถือหุ้นอีกฝั่งของ IFEC ไม่ลามือ จัดแถลงข่าวคัดค้าน I Thermal บริษัทลูก IFEC ชนะประมูลซื้อทรัพย์โรงแรม 3,594 ล้าน สูงกว่าครั้งก่อน 1,582 ล้านบาท เป็นพฤติกรรม ลับ ลวง พราง ทั้งจี้กลต.ตรวจสอบธุรกรรม

มหากาพย์ประมูลโรงแรมหรู "ดาราเทวี เชียงใหม่" ที่เคาะราคาอย่างดุเดือดไปถึง 69 ครั้ง จบที่ราคา 3,594.62 ล้านบาท โดยมี I Thermal ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เป็นผู้ชนะการประมูลขณะที่ IFEC เป็นบริษัทแม่ของ บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ซึ่งเดิมเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ 

โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่

 

ล่าสุดในวันพรุ่งนี้(วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566)ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นอีกฝั่งของ IFEC นำโดย
นางสาวเยาวลักษณ์ ฤทธิ์สมจิตต์ ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC  จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวคัดค้าน I Thermal บริษัทลูก IFEC ชนะประมูลซื้อทรัพย์โรงแรม 3,594 ล้าน สูงกว่าครั้งก่อน 1,582 ล้านบาท  เป็นพฤติกรรม  ลับ ลวง พราง

โดยมองว่าการเข้าประมูลโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 
27 ม.ค. 2566 ที่บริษัท IThermal บริษัทย่อยของ IFEC เป็นพฤกรรมที่เกิดจากจากกระบวนการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องของ IThermal

โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่

ทั้งๆที่เคยชนะการประมูลไปแล้วในครั้งแรกแต่ไม่ยอมชำระเงิน จนถูกริบเงินมัดจำ 110 ล้านบาท มาชิงประมูลครั้งที่ 2 แข่งกับบริษัท เมฆสวัสดิ์ (ประเทศไทย) จำกัด จนชนะประมูลในราคา 3.59 พันล้าน มากกว่าครั้งแรก 1,582 ล้านบาทเป็นกรณีลับลวงพลาง และผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้ก็ไม่เห็นด้วยในการประมูลซื้อโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ มาตั้งแต่แรก

พร้อมต้องการจี้ให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.เร่งดำเนินการตรวจสอบในกรณีที่สอบถามถึงเรื่องที่บริษัท IFEC ใช้บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์จำกัด หรือ I Thermal ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าไปลงทุนสูงถึง 2,016 ล้านบาท ซื้อโรงแรมดาราเทวี  จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี เมื่อช่วงการประมูลก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา 

ทั้งที่บริษัท IFEC อยู่ในกระบวนการล้มละลาย และระบุก่อนหน้านี้ว่าคณะกรรมการบริษัท IFEC ไม่ได้รับรู้ ไม่มีมติยินยอมให้นายทวิช เตชะนาวากุล และนายหาญ เชี่ยวชาญ กรรมการของบริษัท I Thermal ไปวางเงิน 110 ล้านบาท เป็นหลักประกันการซื้อการโรงแรมดาราเทวีต่อกรมบังคับคดีแต่อย่างใด

ทั้งเป็นที่น่าสงสัยยิ่งว่าเงิน 110 ล้านบาทนั้น นายทวิช นำมาจากไหน เพราะจากงบการเงินปีล่าสุดของบริษัท I Thermal เกือบไม่มีเงินสดอยู่เลย ท้ายสุดถูกริบเงินมัดจำ 110 ล้านบาท กรมบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดเป็นครั้งที่2 

สำหรับโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งโรงแรมดาราเทวี ที่ถือเป็นเจ้าของคนแรก คือ นายสุเชฏฐ์ สุวรรณมงคล ครอบครัวเป็นดีลเลอร์ขายรถอีซูซุใหญ่ที่สุดในภาคใต้ มีความชื่นชอบศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมล้านนา ลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี 2545

ก่อนจะเปิดให้บริการในปี 2547 โดยเลือกเชนโรงแรมหรู “แมนดาริน กรุ๊ป” เป็นผู้บริหาร แต่ช่วงหลังไม่ได้ต่อสัญญากับ“แมนดาริน กรุ๊ป”จึงบริหารเองภายใต้ชื่อโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่

ต่อมาช่วงปลายปี 2558 IFEC ได้เข้ามาซื้อกิจการโรงแรม ดาราเทวี 2,520 ล้านบาท 
เมื่อ IFEC ที่ทำธุรกิจพลังงาน ต้องการขยายการลงทุนในธุรกิจโรงแรมกลุ่มดาราเทวี เชียงใหม่  ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและสามารถต่อยอดธุรกิจด้านสุขภาพ ด้วยการใช้ภูมิปัญญาไทย แบบล้านนามาปรับปรุง เพื่อให้เข้ากับวิธีการดูแลสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในอนาคต

โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่

แต่ก็เกิดปัญหาบริหารภายใน IFEC ขึ้นหลังซื้อโรงแรม ดาราเทวีมาแล้ว โดยช่วงปี 2559-2561 เกิดความขัดแย้ง การของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ฝ่าย คือ นพ.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ และนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ตำแหน่งในขณะนั้น และได้ลาออกจาก IFEC แล้วทั้งคู่)

โดยผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่ายมีการยื่นฟ้องร้องคดีต่อหน่วยงานรัฐ ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในคดีทุจริตใน IFEC  กล่าวโทษกับอดีตผู้บริหารเดิมกระทำทุจริต ในหลายประเด็นทั้งพยายามครอบงำกิจการและปฏิบัติหน้าที่กรรมการทำให้ IFEC ได้รับความเสียหาย เรื่องทุจริตการซื้อขายโรงแรมดาราเทวี ด้วยราคาขายเกินจริง

นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC เรียกร้องให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบความผิดปกติของราคาที่ IFEC ซื้อโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุปัญหาทางการเงินของ IFEC จนส่งผลต่อเจ้าหนี้เงินกู้และผู้ถือหุ้นรายย่อย

กระทั่งเกิดโควิด-19 ทำให้โรงแรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก และ  IFEC มีกรรมการและผู้บริหารใหม่เข้ามาในปี 2562 นำโดย นายทวิช เตชะนาวากุล  มานั่งเป็นประธานกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารไอเฟค เข้ามาแก้ปัญหาด้วยการประกาศปิดบริการในเดือน เม.ย.2563

รวมถึงการขออนุมัติให้โรงแรมดาราเทวี ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง จากนั้นเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2563 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่ง “ยกคำร้องฟื้นฟูกิจการ”และเข้าสู่กระบวนการล้มละลายในท้ายที่สุด

จนนำไปสู่การที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของโรงแรมดาราเทวี ได้แก่ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ใน 2 คดี ได้แก่ ทรัพย์ในคดีหมายแดงที่ ผบ.2123/2561 ราคาประมูลเริ่มต้น 1,262.9 ล้านบาท และทรัพย์ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.2124/2561 ราคาประมูลเริ่มต้น 749.72 หรือคิดเป็นราคาประมูลเริ่มต้นรวม 2,012.62 ล้านบาท