การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยนับจากไตรมาส 4 ปี 2565 จากการยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยส่งผลให้สายการบิน และโรงแรมรายใหญ่ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีผลประกอบการปี 2565 ที่ขยับฟื้นตัว จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของธุรกิจการบินแม้สายการบินต่างๆ ยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดทุนอยู่ แต่เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดแล้ว จะเห็นว่าสายการบินต่างๆ มีผลการขาดทุนที่ลดลง และบางสายการบินก็เริ่มเห็นกำไรจากการดำเนินงานแล้ว
สายการบินที่มีผลประกอบการโดดเด่นที่สุด คือ “การบินไทย” โดยหลังการเข้าฟื้นฟูกิจการ ที่เดินหน้าลดต้นทุนอย่างหนัก และการทยอยกลับมาเปิดทำการบินอีกครั้ง ซึ่งมีปริมาณการผลิต (ASK) เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 243% และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 1,118% มีจำนวนผู้โดยสารรวม 9.01 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 449%
ทำให้ในปี 2565 การบินไทยกลับมาทำรายได้แตะระดับ 1 แสนล้านบาท ซึ่งแม้ราคานํ้ามันจะสูงมากในประวัติการณ์ แต่ก็สามารถขายตั๋วราคาสูงขึ้นได้ ด้วยนักท่องเที่ยวที่กลับมาแค่ครึ่งหนึ่งของช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานแล้ว
ส่งผลให้การบินไทยมีกระแสเงินสดในมือจากแค่เพียง 4 พันล้านบาท ในปี 2564 พุ่งมาเป็น 34,540 ล้านบาท มีผลการขาดทุนอยู่ที่ 252 ล้านบาทเท่านั้น ไม่นับปี 2564 ที่เป็นปีที่การบินไทยมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้
รวมทั้งมี EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 19,689 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ
“บางกอกแอร์เวย์ส” ที่ในปี 2565 กลับมาทำการบินได้ 24 เส้นทางบิน (รวม 3.4 ล้านที่นั่ง หรือคิดเป็น 40.4% ของก่อนเกิดโควิด) มีผู้โดยสาร 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 394.8% และมีรายได้รวมเพิ่ม 7,073.6 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของการขายตั๋วเครื่องบิน ธุรกิจสนามบิน และธุรกิจที่เกี่ยว ข้องกับธุรกิจสนามบิน
ทำให้ในปี 2565 บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA มีผลขาดทุนลดลง จาก 8,549.8 ล้านบาทในปี 2564 มาขาดทุนอยู่ที่ 8,549.8 ล้านบาทในปี 2565
“ไทยแอร์เอเชีย” ถ้าดูผลประกอบการ จากบมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV อาจจะสงสัยว่าทำไมปี 2565 จึงดูขาดทุนมากกว่าปี 2564 แต่ในใส้แล้ว จะเห็นว่า ไทยแอร์เอเชีย ในปี 2565 ขาดทุนลดลงอยู่ที่ 8 พันล้านบาท จากปี 2564 ที่ขาดทุนอยู่ราว 11.7 หมื่นล้านบาท
เนื่องจากในปีที่ผ่านมา AAV ได้ปรับโครงสร้าง ใหม่มาถือหุ้นในบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด 100% แตกต่างจากปี 2564 ที่ AAV ถือหุ้นในไทยแอร์เอเชีย 55% และแอร์เอเชีย มาเลเซีย ถือหุ้น 45% ทำให้งบของ AAV จึงแสดงผลเฉพาะในสัดส่วนที่ยังไม่รวมกับแอร์เอเชีย มาเลเซียนั่นเอง ขณะที่ “นกแอร์” ยังไม่ได้แจ้งผลประกอบการในงวด 12 เดือน มีเฉพาะผลประกอบการ 6 เดือน
ในส่วนของธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ หรือ โรงแรมหรู ที่ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ล้วนแต่พลิกกลับมาทำกำไร ทั้งยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จากการปรับราคาขายห้องพักที่เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 20-30% เนื่องจากดีมานด์ นักท่องเที่ยวมีสูง เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อทำให้โรงแรมระดับ 4-5 ดาวต่างได้รับอนิสงส์กันถ้วนหน้า และส่วนใหญ่มีรายได้จากค่าห้องพักสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 ไปแล้ว
เริ่มจาก “ไมเนอร์” พลิกจากขาดทุนนับหมื่นล้านบาท กลับมาทำกำไรในปี 2565 โดยไมเนอร์ โฮเทลส์ ซึ่งมี 531 โรงแรมและ 76,996 ห้อง ครอบคลุม 56 ประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อ คืนของกลุ่มโรงแรมในทวีปยุโรปและลาตินอเมริกา ประเทศมัลดีฟส์ และออสเตรเลีย ที่เติบโตในระดับที่สูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด-19
ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมในไทยฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 เป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ส่วนธุรกิจอาหารก็ฟื้นตัว
ขณะที่ “AWC” ก็ปิดปี 2565 ด้วยกำไรที่เติบโตมากกว่า 2.8 เท่า ด้วยกำไรเฉียด 4 พันล้านบาท จาก 20 โรงแรม รวม 5,458 ห้อง เป็นผลมาจากการเติบโตของโรงแรม ที่สร้างอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate หรือ ADR) สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
ขณะที่รายได้จากกลุ่มธุรกิจศูนย์ การค้าก็มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาคึกคัก เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน ยังคงสร้างกระแสเงินสดให้ AWC เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มปี 2565
นอกจากนี้โรงแรมในกลุ่ม “SHR” ธุรกิจโรงแรมของสิงห์เอสเตท ก็พลิกจากขาดทุน 1,234 ล้านบาท มาทำกำไร 14.4 ล้านบาท โดยมีรายได้เติบโต 93% สู่ระดับ 8 พันล้านบาท จากผลประกอบการโรงแรมในสหราชอาณาจักรที่แข็งแกร็ง การฟื้นตัวที่ชัดเจนของกลุ่มโรงแรมในพอร์ต Outrigger ซึ่งเติบโตขึ้นกว่าปีก่อนเกิดโควิด-19
ส่วนโรงแรมในไทยแม้จะฟื้นตัวช้ากว่า เพราะเปิดประเทศเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2565 แต่จากการปรับแนวคิดนำแบรนด์ทราย(SAii) มาบริหารโรงแรม ส่งผลให้อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยรายวันปรับเพิ่มขึ้นได้ 68%
รวมถึงโรงแรมในกลุ่ม “CENTEL” หรือเซ็นทารา ต่างก็พลิกจากการขาดทุน 1,734 ล้านบาทในปี 2564 กลับมาทำกำไร 398 ล้านบาทในปี 2565 จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรม6,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180% ซึ่งโรงแรมระดับ 5 ดาว ในเมืองท่องเที่ยวหลักโดยเฉพาะในกรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนธุรกิจอาหาร มีรายได้รวม 11,675 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%
ท่องเที่ยวที่ฟื้นชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจขนาดใหญ่ในปีนี้มีโมเมมตั้มที่เติบโตต่อเนื่องเช่นกัน