การบินไทยแจงแล้วทำไมต้องยุบไทยสมายล์ จะเกิดอะไรขึ้นจากนี้

24 ก.พ. 2566 | 07:09 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2566 | 12:17 น.

การบินไทยแจงแล้วทำไมต้องยุบควบรวม ไทยสมายล์ ยืนยันเป็นหนึ่งในแผนปรับโครงสร้างธุรกิจที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ปี 2564 ที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจการบินให้เหลือแบรนด์เดียวคือ TG คาดจะภายในปีนี้ กางแผนแก้ปัญหาขาดทุนสะสม 2 หมื่นล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย  จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของการบินไทย ที่จะนำสายการบินไทยสมายล์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบินไทย เพื่อให้เหลือแบรนด์เดียวคือ TG เป็นส่วนหนึ่งที่มีการเสนออยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 แล้วไม่ใช่สิ่งที่เกิดว่าจะมาทำในตอนนี้

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

 

โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดในการดำเนินงานเชิงพาณิชย์และปฏิบัติการบินซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของกม.การปฏิบัติการบินหรือใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ  Air Operator Certificate (AOC) ที่แยกกันระหว่างการบินไทยและไทยสมายล์ แม้ว่าการบินไทยจะถือหุ้นในไทยสมายล์100%

แต่ก็ต้องมีขั้นตอนและขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ซึ่งตั้งเป้าว่าน่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งในอดีตตอนแรกที่ก่อตั้งไทยสมายล์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบินไทยอยู่แล้ว ไม่ได้แยกกัน แต่ตอนหลังมีปัญหา เช่น เส้นทางบินเชียงใหม่ การบินไทยก็บิน ไทยสมายล์ก็บินก็ขาดทุน 

ไทยสมายล์ทำการบินด้วยแอร์บัสเอ 320 ทำการบินได้ 9 ชั่วโมงต่อวัน การบินไทย ทำการบิน 14 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ไทยสมายล์ขาดทุน โดยในปี 2565 ไทยสมายล์ขาดทุน 4,248 ล้านบาท ขาดทุนสะสมอยู่ร่วม 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งขนาดธุรกิจของไทยสมายล์คิดเป็น 10%ของการบินไทย

ถ้าเอามาบริหารจัดการอยู่ในองค์กรเดียวกัน สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางให้เดินไปในกลยุทธเดียวกันก็จะทำให้ไทยสมายล์จะกลับมามีกำไรได้

ขณะที่กันการควบรวมก็จะทำให้การบริหารจัดการเส้นทางบินเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น  เพราะแม้การบินไทยจะถือหุ้นในไทยสมายล์100%แต่ความที่ AOC แยกกัน ทำให้ประเทศต่างๆมองว่าเป็นคนละสายการบินกันทำให้การบริหารการใช้เครื่องบินกว่าจะได้สิทธิการบินใช้เวลานาน รวมถึงบางประเทศก็มีเรื่องข้อจำกัดของตารางการบิน(สล็อตการบิน)ด้วย

อย่างจะไปบินเมืองจีน โดยใช้ไทยสมายล์ ต้องใช้เวลา 6 เดือนในการขออนุญาต หรือจะใช้เครื่องบินไทยสมายล์ไปบินฟิลิปปินส์ด้วยไทยสมายล์ขาดทุนเขาก็ไม่ให้บิน
และการบินไทยมีแต่เครื่องบินลำตัวกว้าง การจะมาบินในเส้นทางระยะใกล้ก็จะไม่คุ้ม
การมารวมกันจะทำให้มีรายได้มากกว่าแยกเป็น 2 องค์กร 

ทั้งนี้การดึงไทยสมายล์มารวมกับการบินไทย ในส่วนของพนักงานไทยสมายล์ราว 800 คนก็จะได้รับสิทธิต่างๆที่ไม่ด้อยไปกว่าเดิม ซึ่งฐานเงินเดือนพนักงานของไทยสมายล์ก็อยู่ในกรอบเงินเดือนของพนักงานอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันลูกเรือของไทยสมายล์ก็ยังขาดอยู่ ยกเว้นตำแหน่งซีอีโอ และซีเอฟโอ ที่ไม่จำเป็นต้องมี เพราะตำแหน่งเหล่านี้อยู่แล้วที่การบินไทย

ส่วนการให้บริการของไทยสมายล์ทุกอย่างก็เหมือนเดิมทั้งเครื่องบินสีส้ม A320 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ หรือแม้แต่การบริการอาหารบนเครื่องบิน เพียงแต่จะเปลี่ยนรหัสเที่ยวบินจาก we เป็น tg ส่วนราคาขายตั๋วก็จะเป็นไปตามดีมานต์และซัพพลายของตลาด 

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบริษัทในกรณีจะยุบไทยสมายล์หรือควบรวมอะไรก็ตาม หากเราตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการก็จะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ต่อไป 

ชาย เอี่ยมศิริ

ขณะนี้เรากำลังศึกษาข้อดี ข้อเสีย เปรียบเทียบตัวเลข เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการเจ้าหนี้ให้เห็นชอบก่อน ซึ่งน่าจะตัดสินใจในเรื่องนี้ไม่เกิน 2 เดือนจากนี้ 

นายชาย กล่าวต่อว่าถ้าเอาไทยสมายล์มาบริหารจัดการอยู่ในองค์กรเดียวกัน สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางให้เดินไปในกลยุทธเดียวกันก็จะทำให้ไทยสมายล์มีการใช้เครื่องบินเพิ่มขึ้นอีก 3 ชั่วโมงต่อวันเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน จะทำให้ต้นทุนลดลง30%ต่อชั่วโมงการบิน ไทยสมายล์ก็จะกลับมามีกำไรได้

รวมถึงทำให้การบริหารจัดการในการใช้เครื่องบินมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบิน 64 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวกว้างที่การบินไทยใช้ทำการบิน 44 ลำและเครื่องบินลำตัวแคบที่ไทยสมายล์ทำการบินอยู่ 20 ลำ

ส่วนในปีนี้เมื่อรวมกับเครื่องบินโบอิ้ง 777-209 ER จำนวน 1 ลำกำลังซ่อมแซมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และแอร์บัสเอ 350 ที่จะเช่ามาอีก 6 ลำ จะทำให้จนถึงสิ้นปีนี้การบินไทยมีเครื่องบินเพิ่มเป็น 71 ลำ และการบินไทยตั้งเป้าหมายการสร้างรายได้อยู่ที่ 1.3-1.4 แสนล้านบาท

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัจจุบันการบินไทยมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยที่ 2.4 หมื่นคนต่อวัน ส่วนไทยสมายล์มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยที่ 1.5 หมื่นคนต่อวัน รวมแล้วมีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 3.4 หมื่นคนที่ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ

การบินไทยแจงแล้วทำไมต้องยุบไทยสมายล์ จะเกิดอะไรขึ้นจากนี้

โดยในปีนี้การบินไทยคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 12 ล้านคน ซึ่งการบินไทยจะเน้นผู้โดยสารจากตลาดระยะไกล อย่างยุโรป ออสเตรเลีย เส้นทางเอเชียเหนือ จีน ญี่ปุ่น รวมถึงเส้นทางบินสู่อินเดีย นายกรกฎ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565 ของการบินไทย ปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสดในมืออยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาทแล้ว เพิ่มจากปี 2564 ที่ตอนนั้นมีกระแสเงินสดอยู่เพียง 4 พันล้านบาท 

การบินไทยแจงแล้วทำไมต้องยุบไทยสมายล์ จะเกิดอะไรขึ้นจากนี้

ทำให้การบินไทยไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการลดต้นทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย

ดังนั้นสเต็ปต่อไปคือการแปลงหนี้เป็นทุน ในส่วนของเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อนำการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการก่อนปลายปี 2567 และนำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในต้นปี 2568