การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 14 ก.พ.2566 ที่ประชุมเห็นชอบจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (TTF) หรือค่าเหยียบแผ่นดิน ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เสนอ ในอัตรานักเดินทางเข้าทางอากาศคนละ 300 บาท และทางบก-น้ำ คนละ 150 บาท เริ่ม1 มิ.ย.2566
ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินทางบก 150 บาทนั้น จะส่งผลต่อการค้าการท่องเที่ยวชายแดน ด้วยบริบทที่แตกต่างกันระหว่างนักท่องเที่ยวทางบกกับอากาศในหลาย ๆ มิติ ที่รัฐต้องทบทวนก่อนมาตรการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจะเริ่มใช้บังคับ
1.วิถีนักท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนไทย-มาเลเซีย (ทางบก) นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวซ้ำในสงขลาบ่อย โดยเฉพาะในหาดใหญ่ สะเดา บางคนมาสัปดาห์ละครั้ง บางคนมากกว่า 1 ครั้ง/ สัปดาห์ ด้วยเหตุผลที่ว่ามาพักผ่อน ช้อปปิ้ง ทานอาหาร ไหว้พรัะ เพราะที่นี่ราคาค่าครองชีพไม่แพงเมื่อเทียบกับในมาเลเซีย และเดินทางมาง่าย คิดปุ๊บสตาร์ทรถมาปั๊บได้เลย เมื่อกฎเกณฑ์เปลี่ยนทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คนจะตัดสินใจมาเที่ยวบ้านเราน้อยลง ทั้งจำนวนคนและความถี่ หากนักท่องเที่ยวตัดสินใจไม่มา 1 คน เท่ากับเดือนนั้นตัวเลขจะหายไป 4 คน
2.ค่าใช้จ่ายไม่ได้จบที่ 150 บาท หากมานอกเวลาทำการ หรือเสาร์อาทิตย์ นักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายค่าโอทีให้กับตรวจคนเข้าเมือง อีก 25 บาท / รถยนต์ 1 คัน จะกลายเป็น 150 บาท++ นี่คือการเพิ่มภาระจากเดิม แทนที่จะยกเลิกของเดิมให้หมดแล้วเหลือยอดเดียว แต่กับกลายเป็นว่าคนละหน่วยงานถือกฎหมายคนละตัว อีกหน่อยถ้าจะมีหน่วยงานไหนขอเก็บบ้าง ก็คงจะให้เหตุผลเดียวกันว่าคนละหน่วยงานก็ได้ใช่หรือไม่
3.ยกเว้นให้กับผู้ถือ border pass เก็บเฉพาะผู้หนังสือเดินทางเพื่อเป็นการผ่อนปรน แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาสงขลาล้วนแต่ใช้หนังสือเดินทาง มาตราการนี้จึงผ่อนปรนเฉพาะบางส่วน และจะส่งผลถึงพื้นที่อื่นๆ เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วย Border Pass จะถูกจำกัดพื้นที่เดินทาง
4.ค่าเหยียบแผ่นดิน 150 บาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก 50 บาทนำไปซื้อประกันให้นักท่องเที่ยวและส่วนที่สอง 100 บาทนำเข้ากองทุนฯ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าประกันจะให้ความคุ้มครอง 30 วัน แต่ถ้านักท่องเที่ยวมาใหม่ในสัปดาห์ถัดไป จะต้องจ่ายค่าประกันอีกทั้ง ๆ ที่เพิ่งจ่ายไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
"เคยเสนอในที่ประชุมกับทีมวิจัยว่า หากเงินค่าเหยียบแผ่นดินออกมาเพื่อแก้ปัญหา ที่รัฐต้องเอาเงินอุดหนุนไปรักษานักท่องเที่ยวเวลาเกิดอุบัติเหตุ ผมเลยเสนอว่าให้นักท่องเที่ยวทางบกจ่าย 1 ครั้งแล้วคุ้มครอง 30 วันตามกรมธรรม์ แต่จะเข้า-ออกประเทศไทยกี่ครั้งก็ได้ตราบเท่าที่ประกันยังคุ้มครอง(เฉพาะทางบก) แต่ก็ไร้การตอบรับ" ดร.สิทธิพงษ์กล่าวและชี้แจงต่อว่า
เราเจอวิกฤตโควิดมา 2 ปี รัฐไม่เข้ามาดูแล เอกชนต้องต่อสู้เรียกร้องกันเรื่อยมาจนการค้าการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น กำลังจะเดินได้ แต่รัฐเดินนโยบายค่าเหยียบแผ่นดินนี้ จะนำมาซึ่งการฉุดรั้งการเดินของนักท่องเที่ยว ถ้ารัฐคิดว่าเสียงประชาชนสำคัญ และให้พวกเราเดินต่อได้อย่างสะดวก ตัวเลขและรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่กระทบ ขอให้รัฐช่วยพวกเรา ดังนี้
ก.ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินทางบก ออกไป 1 ปีและศึกษาผลกระทบอีกครั้ง การศึกษาขอให้เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยว่าบริบทเขาเป็นอย่างไร เช่น การเดินทางเข้ามาเลเซียไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่การเดินทางฝั่งไทยยังมีค่าใช้จ่าย (ช่วงนอกเวลาทำการ) และขอให้เชิญตัวแทนหน่วยงานภาคเอกชนที่มีส่วนได้เสียให้มากที่สุด อย่างน้อยที่สุดต้องมีสัดส่วนเท่ากันหรือมากกว่าหน่วยงานของรัฐ
ข.หากเดินหน้าจัดเก็บและไม่ให้เกิดผลกระทบกับการค้าการท่องเที่ยวชายแดน ขอให้ยกเว้นการจัดเก็บนักท่องเที่ยวสัญชาติมาเลเซีย ลาว กัมพูชา และเมียนมา ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านมีพรมแดนติดกับไทย ที่เดินทางเข้าประเทศไทยทางบก
สุดท้ายนี้ผมขอให้รัฐพิจารณาทบทวนกรณีการจัดเก็บดังกล่าว ว่ามีผลกระทบมากน้อยขนาดไหน และขอให้รัฐเปิดเผยผลงานวิจัย ที่ได้ทำสำรวจเรื่องการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ว่ามีเนื้อหาสาระอย่างไร
“ผมในฐานะเป็นคนพื้นที่ ไม่อยากเห็นมาตรการจากส่วนกลาง มาทำร้ายการค้าการท่องเที่ยวของเรา ไม่อยากเห็นภาพการค้าการท่องเที่ยวบ้านเราเกิดวิฤตแล้วต้องมาแก้ไขกันภายหลัง”ดร.สิทธิพงษ์ กล่าวย้ำ