กพท.เปิด 2 แนวทางแก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพง

15 เม.ย. 2566 | 06:16 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2566 | 06:16 น.

กพท.เปิด 2 แนวทางแก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพง หนุนเพิ่มเที่ยวบินรับดีมานด์ พร้อมทบทวนเกณฑ์การกำกับดูแลค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์

หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลอัตราค่าโดยสารอากาศยานภายในประเทศ หรือ ตั๋วเครื่องบินให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและสายการบินกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม

ล่าสุดนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล มีแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าโดยสารให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับผู้โดยสารและสายการบิน ดังนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

  • สนับสนุนสายการบินในการเร่งเพิ่มจำนวนที่นั่งให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาค่าโดยสารภาพรวมลดลงได้ โดยดำเนินการ ดังนีี้
  1.  เพิ่มจำนวนอากาศยาน ซึ่งในปัจจุบันกพท.ได้อนุญาตให้สายการบินเพิ่มจำนวนอากาศยาน ได้แก่ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ได้รับอนุญาตให้เพิ่มจำนวนอากาศยานแล้ว 7 ลำ สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์อยู่ระหว่างการขออนุญาตเพิ่มอากาศยาน 3 ลำ การบินไทยขออนุญาตเพิ่มอากาศยาน 6 ลำและไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ขออนุญาตเพิ่มอากาศยาน 2 ลำ
  2. ให้สายการบินกลับมาใช้ Slot เดิมที่หยุดทำการบินในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร
  3. ประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารวางแผนการเดินทางล่วงหน้า โดยได้ดำเนินการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้แก่ เว็บไซต์และ Facebook ของกพท. เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ กลไกการกำหนดราคาค่าโดยสารของสายการบิน เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าเพื่อให้ได้บัตรโดยสารในราคาที่เหมาะสม
  • ทบทวนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและส่งเสริมการแข่งขันตามกลไกตลาด ที่ผ่านมาสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการโดยการจัดประชุมหารือกับผู้แทนสายการบิน และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการทบทวนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ กพท.ได้มีการติดตามตรวจสอบราคาค่าโดยสารอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำรายงานค่าบัตรโดยสารเป็นรายไตรมาส ซึ่งมีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกพท.  รวมทั้งมีการสุ่มตรวจราคาค่าบัตรโดยสารในช่วงที่มีความต้องการเดินทางสูงเพื่อตรวจสอบไม่ให้สายการบินจำหน่ายบัตรโดยสารในราคาที่เกินกว่าอัตราเพดานที่กำหนด

"นายกรัฐมนตรีติดตามปัญหาราคาบัตรโดยสารเครื่องบิน โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงได้สั่งการในการประชุมครม. ให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลอัตราค่าโดยสารอากาศยานภายในประเทศ ให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและสายการบินกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม"นายอนุชากล่าว

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์ราคาบัตรโดยสารอากาศยานภายในประเทศและแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าโดยสาร ดังกล่าว พร้อมกำชับให้กระทรวงคมนาคมติดตามการพิจารณาของกพท. ในส่วนการกำกับดูแลอัตราค่าโดยสารอากาศยานภายในประเทศ ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้รายงานสถานการณ์ราคาบัตรโดยสารอากาศยานภายในประเทศว่า ความต้องการการเดินทางทางอากาศกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ซึ่งเป็นช่วง High Season ของการท่องเที่ยว โดยปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 85% และผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 53.89%

ขณะที่สายการบินไม่สามารถเพิ่มจำนวนที่นั่งได้ทันต่อความต้องการ เนื่องจากทุกสายการบินมีการลดขนาดฝูงบินเพื่อรักษากระแสเงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับปัจจุบันสายการบินทั่วโลกเร่งจัดหาอากาศยานพร้อมกัน ทำให้เกิดการแข่งขันในการจัดหาอากาศยานเพื่อให้บริการ

นอกจากนี้ ราคาบัตรโดยสารการบินจะมีความแตกต่างกันตามช่วงเวลาที่ทำการซื้อ ดังนั้น หากผู้โดยสารทำการวางแผนการเดินทางล่วงหน้าจะสามารถซื้อบัตรโดยสารได้ในราคาถูก แต่ที่ผ่านมาผู้โดยสารมีพฤติกรรมในการจองบัตรโดยสารในช่วงใกล้วันเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้ต้องซื้อบัตรโดยสารที่มีราคาแพงกว่าการจองล่วงหน้า