ทายาทเจ้าสัวเจริญ พลิกที่ดิน 12 แปลงริมเจ้าพระยา สร้าง The River Journey

04 ก.ค. 2566 | 09:43 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2566 | 06:43 น.

การสร้างแลนด์มาร์กใหม่ของทายาทเจ้าสัวเจริญ สำหรับโครงการลงทุนในพื้นที่แปลงใหญ่ของ AWC ไม่ได้มีแค่โครงการ “ลานนาทีค” เชียงใหม่ และ “อควอทีค พัทยา” เท่านั้น แต่ยังมีที่ดินอีก 12 แปลงริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ที่ก็อยู่ในไปป์ไลน์ในการเดินหน้าพัฒนาเช่นกัน

การสร้างแลนด์มาร์กใหม่ของทายาทเจ้าสัวเจริญวัลลภา ไตรโสรัส” ผู้คุมบังเหียนการพัฒนาของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC สำหรับโครงการลงทุนในพื้นที่แปลงใหญ่ ไม่ได้มีแค่โครงการ “ลานนาทีค” จังหวัดเชียงใหม่ และ “อควอทีค พัทยา” เท่านั้น แต่ยังมีที่ดินอีก 12 แปลงริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ที่ก็อยู่ในไปป์ไลน์ในการเดินหน้าพัฒนาเช่นกัน

วัลลภา ไตรโสรัส

แม้พื้นที่ของ AWC ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาจะไม่ได้เป็นที่ดินแปลงติดกัน แต่ด้วยความที่มีพื้นที่หลายจุดกระจายตัวอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ทำให้ทายาทเจ้าสัวเจริญ มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ 12 แปลงริมนํ้าเจ้าพระยา ทั้งในกรุงเทพฯ เลยไปจนถึงอยุธยา ภายใต้แนวคิด “The River Journey” สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวริมนํ้าที่สำคัญของประเทศไทย

ปัจจุบันที่ดินริมแม่นํ้าเจ้าพระยาของ AWC นอกจากจะมีพื้นที่ของ “ล้ง 1919” รวม 8 ไร่กว่าริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับตลาดน้อยที่เช่าจากตระกูลหวั่งหลี เป็นเวลา 64 ปีแล้ว ก็ยังมีที่ดินของตัวเองอีกหลายแห่ง ตั้งแต่ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” 72 ไร่ ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา บนถนนเจริญกรุง ที่ดินริมนํ้าย่านฝั่งธนบุรี ตรงข้ามเอเชียทีค 

โครงการพัฒนาอาคารเก่าแก่กว่า 130 ปี “อีสต์เอเชียติก” และศูนย์การค้าและศูนย์การค้า โอ.พี.เพลส ที่อยู่ติดกับโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ที่ดินตรงท่าเรือเป๊ปซี่ (โกดังเสริมสุข) ราว 10 ไร่ ใกล้ไอคอน สยาม  เลยเรื่อยไปจนถึงที่ดินริมนํ้าในอำเภอบางไทร จังหวัดอยุธยา

ที่ดิน 12 แปลงริมเจ้าพระยา ของ AWC

ทั้งนี้การพัฒนาที่มีแผนชัดเจนแล้วมีหลายโครงการใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้นริมเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา “เดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น” และ “บริเวณทรงวาด” ให้เป็น “The Integrated Wellness Destination”

พลิกโฉมริมแม่นํ้า เจ้าพระยาสู่การเป็นแลนด์มาร์คด้านสุขภาพดึงดูดนักท่องเที่ยวด้านสุขภาพทั่วโลก ใช้งบลงทุนกว่า 3,436 ล้านบาท โดยอนุรักษ์อาคารเดิมไว้ เพื่อสร้างโรงแรมและแบรนด์เดทเรสสิเด้นท์ แบรนด์ เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน

แผนพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ของ AWC

ในโครงการนี้จะมีโรงแรม เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน แบงค็อก เดอะ ริเวอร์ไซด์ 86 ห้อง อยู่ที่เดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น และแบรนด์ เดทเรสสิเด้นท์ 56 ห้อง เชื่อมคอนเซ็ปต์เวลเนส และบริการสุขภาพด้านองค์รวม ทั้งยังจะสร้างโรงแรมเดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน แบงค็อก เดอะ ริเวอร์ไซด์ อีก 2 แห่ง เป็นห้องพัก 24 ห้อง ที่ The Shophouse ทรงวาด และห้องพัก 56 ห้อง ที่ The Mansion ทรงวาด ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตรงข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา

การเดินทางเชื่อมระหว่าง 3 พื้นที่ของโรงแรมจะให้บริการด้วยเรือรับส่งพิเศษ ซึ่งโรงแรมวางแผนเปิดให้บริการในส่วนของ The Shophouse ทรงวาด และ The Mansion ทรงวาด ในไตรมาสแรกของปี 2569 ส่วนโรงแรมที่ เดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น จะเปิดไตรมาสแรกปี 2570

นอกจากนี้ AWC จึงจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อ อนุรักษ์และบริหารศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ควบคู่ไปกับการยกระดับ สู่การเป็นจุดหมายปลายทางระดับ ลักซัวรี่ ภายใต้โครงการโรงแรมหรูและการสร้างให้เป็นศูนย์สุขภาพริมนํ้าที่กำลังจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน AWC ยังอยู่ระหว่างดำเนินการพลิกโฉม “อาคาร อีสต์ เอเชียติก” หรือ EAC โดยดึง Nobu Hospitality แบรนด์ไลฟ์สไตล์สุดหรูที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในระดับโลก มาร่วมพัฒนาและบริหาร “โรงแรม เดอะ พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา แบงคอก” โดยโรงแรมจะยังคงอนุรักษ์โครงสร้างและศิลปะดั้งเดิมของอาคาร ที่ก่อตั้งขึ้นปี 2427 โดยกัปตัน Hans Niels Andersen นักเดินเรือชาวเดนมาร์ก

โรงแรม เดอะ พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา แบงคอก

การพัฒนาโรงแรมนี้จะมีความคลาสสิกสไตล์ลักซ์ชูรี่ ริมสายนํ้า นำเสนอความเชี่ยวชาญด้านอาหารและเครื่องดื่มและการบริการอันเป็นเลิศ ภายใต้แนวคิด “The River Journey” ควบคู่การเชื่อมต่อวัฒนธรรมอันทรงคู่ค่าของตะวันตกและตะวันออก เปิดให้บริการในปี 2569

ขณะที่ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ กรุงเทพ” ยังมีการพัฒนาโครงการในเฟสอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเอเชียทีค เฟส 2 ไม่ว่าจะเป็น เมกะโปรเจคแบบมิกซ์ยูส สร้างตึกสูงระฟ้า 100 ชั้น ขนาดสูงที่สุดในไทย ให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

ขณะนี้ Adrian Smith + Gordon Gill Architecture (AS+GG) บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติจากสหรัฐ ซึ่งเชี่ยวชาญในการออกแบบอาคารสูงระดับโลก เช่น เบิร์จคาลิฟา นครดูไบ อยู่ระหว่างออกแบบตึกให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับเทรนด์ความยั่งยืน ส่วนภาพรวมดีไซน์ได้ปรับแบบจนได้คาแรกเตอร์ ที่มีส่วนผสมของความเป็นไทย

ตึก 100 ชั้น เอเชียทีค

รวมไปถึงการสร้างโรงแรม 3 แห่ง ในโครงการมิกซ์ยูส ส่วนต่อขยายของโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ได้แก่ โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ, โรงแรมเจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ โฮเทล เอเชียทีค กรุงเทพ และโรงแรม ดิ เอเชียทีค แบงค็อก, ออโตกราฟ คอลเลคชัน ทั้งยังมีการขยายพื้นที่โซนค้าปลีก และอาคารสำนักงาน เพื่อยกระดับให้ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์  ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา เป็นแลนด์มาร์กระดับไอคอน (Iconic Landmark) แห่งใหม่ของกรุงเทพฯนั่นเอง