กรมโยธาธิการและผังเมืองวางผังแม่บท “การพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว” ชูอัตลักษณ์ชุมชน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผลักดัน “จังหวัดระนอง” สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชั้นนำของโลก (Wellness City)
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออนุรักษ์พื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีความทรุดโทรม ขาดแคลนระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสมบูรณ์เพียงพอ เพื่อให้ภาคประชาชน เอกชนในพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น
รวมทั้งจังหวัดระนองซึ่งกรมฯ เล็งเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของ จึงดำเนินการปรับปรุงบ่อน้ำพุร้อนและภูมิทัศน์โดยรอบ อาทิ ทางเข้า ส่วนต้อนรับ ลานจอดรถ ร้านค้าชุมชน ลานกิจกรรม และทางจักรยาน เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ ตามยุทธศาสตร์จังหวัด ด้านการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness City) และสถานที่พักผ่อนที่สำคัญของจังหวัดระนองและประเทศ
ต่อมาได้ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองหาดส้มแป้น ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากน้ำพุร้อนรักษะวาริน โดยมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะการพังทลายของพื้นดินริมตลิ่งลำคลอง รวมทั้งพัฒนาลำคลองหาดส้มแป้นให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ สามารถคำนวณและวิเคราะห์การควบคุมการไหลของน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาแหล่งน้ำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแล้ว ยังสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังและการเกิดอุทกภัยได้อีกด้วย
นอกจากเขื่อนป้องกันตลิ่งแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่น ได้แก่ ทางเดิน-ทางวิ่ง เพื่อสันทนาการและออกกำลังกาย พร้อมราวกันตกและไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งเชื่อมต่อกับทางเดิน-ทางวิ่ง ของโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนฯ และทางจักรยาน สร้างลานกิจกรรมริมน้ำ ทดแทนลานเดิม บริเวณลานอเนกประสงค์ของเทศบาลเมืองระนอง ที่ชำรุด ทรุดโทรม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวระนองมาใช้พักผ่อนหย่อนใจ ใช้ทำกิจกรรมสันทนาการเป็นประจำทุกวัน และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมประจำปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานประเพณีลอยกระทง
ปัจจุบัน โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดระนอง สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะได้อย่างคุ้มค่า ยกระดับให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และรักษาอัตลักษณ์ของเมืองให้คงอยู่ต่อไป สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นสร้างความหลากหลาย ด้านการท่องเที่ยวและประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมไทย เชื่อมโลก
และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเด็นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว ด้านอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาโครงการสำรวจออกแบบแหล่งท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากลต่อไป