สถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดตรัง หลังเชื้อโควิด-19 สิ้นสุดลง กลับมาคึกคัก เมื่อนักธุรกิจและผู้ประกอบการธุรกิจ ท่องเที่ยว เช่น โรงแรม รีสอร์ท เริ่มทำการท่องเที่ยวและการค้ากับจีนอีกครั้ง
นอกจากนี้ท่าอากาศยานตรัง เตรียมเปิดรับเที่ยวบินระหว่างประเทศแบบเช่าเหมาลำหรือแบบประจำ เส้นทางเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ และประมาณต้นปี 2567 ท่าอากาศยานตรังจะเปิดใช้อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ที่ให้บริการผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศเต็มพื้นที่
ในปี 2568 ตามสัญญางานจะเปิดใช้ทางวิ่ง หรือ “รันเวยส์” ความยาว 2,990 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการนำเที่ยวจากจีน โดยการนำของสมาคมการค้าไทยจีนตอนใต้ สภาหอการค้าไทย เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (รองผู้ว่าฯนายภูวณัฐ สมใจ ไปแทน) และภาคเอกชน ไปเยี่ยมเยือน เมืองกุ้ยหยาง มลฑลกุ้ยโจ เพื่อกระชับการทำการค้าด้านการท่องเที่ยว การเกษตร การค้า และการศึกษา
อีกทั้งจีนจะเปิดเส้นทางบินเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ 3 เส้นทาง กุ้ยหยาง-ตรัง คุนหมิง-ตรัง และชงฉิ่ง-ตรัง เพื่อนำนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวตรัง หรือนำคนตรังและจังหวัดใกล้เคียงไปเที่ยวจีนระหว่างกัน
นายณัฐนนท์ โพธิเมธานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทตรังยูนนาน เทคโนโลยี่ เอ็กซ์ปอร์ตแอนด์อิมปอรต์ จำกัด และกรรมการผู้จัดการบริษัท ตรังพาราไดร์ไทยแลนด์ทัวร์แอนด์ทราเวล จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผู้ประกอบการนำเที่ยวและกลุ่มผู้ประกอบการส่งสินค้าออกจากจีนเชิญตนเองไปเมืองกุ้ยหยาง มลฑลกุ้ยโจ เพื่อจะเปิดช่องทางการท่องเที่ยวกุ้ยหยาง-ตรัง ในลักษณะเที่ยวบินเช่าเหมาลำ
ขณะที่ผู้ประกอบการสินค้าจากจีนจะเปิดตลาดขายสินค้ายอดนิยม เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แผงโซล่าเซลล์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าจากจีนที่มีมาตรฐาน มอก.นำมาขายในตรังหรือภาคใต้ ในทางกลับกัน สินค้าจากไทยเราก็สามารถนำไปขายที่ประเทศจีนในเมืองต่างๆ ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องศึกษาเตรียมการแล้ว ตนเองนอกจากทำธุรกิจท่องเที่ยวมีโรงแรม รีสอร์ทบนเกาะกระดานแล้ว ได้เปิดบริษัทนำเข้าและส่งออกสินค้ากับจีนอีกด้วย ตนเองได้ทำการค้ากับจีนมาหลายปี โดยการสั่งซื้อสินค้ามาขาย เช่น แผงโซล่าเซลล์ และสินค้าอื่นๆ
ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 นักธุรกิจและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม รีสอร์ท ผู้ประกอบการนำเที่ยวจากตรังเดินทางไปเยี่ยมผู้ประกอบการนำเที่ยวและกลุ่มธุรกิจในพื้นที่ นครคุนหมิง มลฑลยูนนาน มาหลายครั้ง อีกทั้งผู้ประกอบการนำเที่ยวจากคุนหมิงส่งนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตรังหลายกรุ๊ป ส่วนสินค้าจากจีนนั้นตนเองนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า แผงโซล่าเซลล์ และสินค้าจากจีนที่มีมาตรฐาน มอก.นำมาขายในตรังมาแล้ว
นายธีรวัฒน์ หวังศิริเลิศ อดีตประธานหอการค้าตรัง เปิดเผยว่า ก่อนที่เราจะทำการค้ากับประเทศจีน จังหวัดตรังเปรียบเสมือนอำเภอหนึ่งของจีน เรามีประชากร 5-6 แสนคน ซึ่งจำนวนน้อยมากๆ ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าหากประเทศจีนส่งนักท่องเที่ยวมาจังหวัดตรัง คนตรังจะเตรียมรับคนจีนอย่างไร ผู้ประกอบการภาคเอกชนและรัฐต้องประชุมวางแผน เรื่องที่พัก ร้านอาหาร การคมนาคม การรักษาความปลอดภัย ให้พร้อม
จังหวัดตรังจะต้องมีแผนมีมาตรการอย่างไรไม่ให้ทัวร์ศูนย์เหรียญเข้ามาทำการค้าในตรัง ในเรื่องนี้เบาใจลงบ้างที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลจีนปราบปรามทุนจีนสีเทาไปพร้อมๆ รัฐบาลไทย จึงคาดว่าหลังจากนี้สถานการณ์จะดีขึ้น
ภาคเอกชนจะรับนักท่องเที่ยวจีนวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้ จีนจะนำนักท่องเที่ยวบินตรง 3 เส้นทาง จาก เมืองกุ้ยหยาง-ตรัง คุนหมิง-ตรัง ฉงชิ่ง-ตรัง เป็นเครื่องเช่าเหมาลำ หากจีนมีความชัดเจนเช่นนี้ ภาคการท่องเที่ยวต้องพร้อมแล้วในการทำการค้ากับจีน
คนตรังเราจะขายอะไรให้เขา ท่าอากาศยานนานาชาติตรังคือโอกาสของคนตรังบ้านเราที่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการค้าการขนส่งสินทางอากาศไปขายหรือซื้อสินค้าจากจีนหรือประเทศอื่นนำมาขายในจังหวัดตรังด้วย
ธีมดี ภาคย์ธนชิต : รายงาน