ท่าอากาศยานเชียงใหม่ Kick off โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร โดยจะดำเนินการออกแบบควบคู่ไปกับการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหากเป็นไปตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จโครงการระยะที่ 1 ภายในปี 2572
นายสรายุทธ จำปา รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทชม.ทอท.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงความเป็นมาของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ตามแผนแม่บทท่าอากาศยานเชียงใหม่ ที่เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปี 2561
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่ง ทอท.ตระหนักถึงการเจริญเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้น จึงได้พิจารณาดำเนินการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็น 2 ระยะ เพื่อให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีแผนการพัฒนาท่าอากาศยาน ที่สามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้อีก 20 ปีอย่างยั่งยืน
โดยในแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวจะพิจารณาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 16.5 ล้านคนต่อปี สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศในด้านต่างๆ นโยบายของรัฐบาล
รวมไปถึงยุทธศาสตร์ของ ทอท.ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา ทอท.ได้ดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดหาผู้รับจ้างสำรวจและออกแบบโครงการ โดยได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท ที.ซี.เอ็ม.เอ.(TCMA) ดำเนินการเป็นที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1
เมื่อดำเนินการออกแบบเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็จะได้แบบเพื่อดำเนินการ เสนอในเรื่องการของงบการก่อสร้าง เพราะว่าเดิมทีเดียว
ครม. อนุมัติในหลักการก่อสร้าง แต่ในเรื่องของงบเมื่อมีการออกแบบเรียบร้อยแล้วจึงจะได้งบและจะเสนอเข้า ครม. โดยผ่านทาง สภาพัฒน์ฯอีกรอบหนึ่ง แผนนี้ มีมาตั้งแต่ปี 2561
แต่เจอสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่างๆ มาเบรค จากนี้ต้องเดินหน้า เพราะด้วยศักยภาพแล้ว ณ ปัจจุบัน ปริมาณผู้โดยสารของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 7 ล้านกว่าคน
มั่นใจว่าเราต้องพัฒนาโครงการนี้ต่อ ถ้าย้อนไปดูก่อนโควิด-19 ศักยภาพ ท่าอากาศยานเชียงใหม่รองรับผู้โดยสารอยู่ที่ 8 ล้านคน แต่ผู้โดยสารกระโดดไปถึง 10 ล้านคนแล้ว ปัจจุบันถ้าไม่มีโควิด-19 มาเบรกคิดว่าผู้โดยสารก็น่าจะโตขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้จำนวนสายการบินยังกลับมายังไม่หมด
คิดว่าในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะ Route ต่างประเทศยังกลับมาไม่หมด ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 60% กว่า ๆ โดยค่าเฉลี่ยในประเทศประมาณ 15,000-17,000 คน ต่างประเทศประมาณ 5,000 กว่าคน เฉลี่ยวันหนึ่งประมาณ 20,000 กว่าคน นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาบ้าง แต่ว่ายังเทียบกับก่อนโควิด-19ไม่ได้
นายสรายุทธ กล่าวถึงการมี คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะว่า ครม.อนุมัติในหลักการมาแล้ว เราเป็นรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงคมนาคม การที่เราจะทำอะไรได้ต้องมี นโยบายมาก่อน เราพร้อมทำตามนโยบายของทางรัฐบาลอยู่แล้ว
มั่นใจว่าทาง AOT ก็คือเป็นฟันเฟืองอันหนึ่งในการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและโดยเฉพาะของเราถือว่าเป็นฮับ เป็นประตูเกตูเวย์สู่ฮับของการท่องเที่ยวของภาคเหนือ เพราะฉะนั้นเรามั่นใจว่าโครงการนี้ต้องเดินหน้า
หลังจากนี้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จะสำรวจข้อมูลความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งภายในและภายนอกท่าอากาศยาน เพื่อนำไปสู่การออกแบบโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้โดยสารผู้ใช้บริการ ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป
ทั้งนี้การขยายขีดความสามารถตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ทั้ง 2 ระยะ จะดำเนินการภายในพื้นที่ของท่าอากาศยานเดิมทั้งหมด ไม่มีการก่อสร้างทางวิ่ง (Runway) เพิ่มเติม หรือขยายพื้นที่เพิ่มเติมแต่อย่างใด โดยมีเป้าหมายพัฒนาเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2572 โดยมีระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 391 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ลานจอดอากาศยาน 31 หลุม
ระยะที่ 2 มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2576 โดยมีระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ลานจอดอากาศยาน 38 หลุม
ด้านผู้แทนกลุ่มบริษัท ที.ซี.เอ็ม.เอ.(TCMA) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มงาน ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 การพัฒนาเขตการบิน ทางขับขนานเส้นใหม่พร้อมทางขับออกด่วน ,ปรับปรุงลานจอดอากาศยานพร้อมระบบเติมน้ำมันอากาศยานทางท่อ ให้มีหลุมจอดอากาศยานรวม 31 หลุมจอด จากเดิมปัจจุบันที่มีเพียง 19 หลุมจอด
กลุ่มที่ 2 การพัฒนาอาคารผู้โดยสารและอาคารสนับสนุน อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ บริเวณด้านทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารเดิม,อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศทั้งหมด,อาคารสำนักงาน ทชม.และสายการบินพร้อมที่จอดรถยนต์
กลุ่มที่ 3 การพัฒนางานสนับสนุนท่าอากาศยาน ปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยาน โดยออกแบบถนนเป็น 6 ช่องทางจราจร (เข้า 3 ช่องทาง ออก 3 ช่องทาง) พร้อมทางยกระดับแยกผู้โดยสารระหว่างขาเข้าและขาออก ,สถานีไฟฟ้าย่อย,โรงผลิตน้ำประปา,ปรับปรุงขยายขีดความสามารถของระบบบำบัดน้ำเสีย
คาดว่างบประมาณของโครงการพัฒนาระยะที่ 1 ประมาณ1หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นการประมาณการไว้ก่อน เป็นค่าออกแบบ ประมาณ 300 ล้านบาท
ทั้งนี้การสำรวจและออกแบบ จะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหากได้รับการอนุมัติตามแผน คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 3 ปี และเปิดใช้งานได้ภายในปี 2572
นายสรายุทธ กล่าวว่า สำหรับ แผนขยายสนามบินแห่งที่ 2 อยู่ในระหว่างการศึกษาจะเริ่มเมื่อใด แต่ ตอนนี้มีการพัฒนาในพื้นที่เดิม 1,600 ไร่ ยังไม่ได้ไปโฟกัสในเรื่องของสนามบินแห่งใหม่แต่อย่างใด
นภาพร ขัติยะ : รายงาน