กลายเป็นประเด็นใหญ่เพราะสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตจนเกิดคำถามตามมามากมาย ทั้งพุ่งเป้าไปที่อาคารแห่งนี้ในข้อสงสัยตั้งแต่ทุนไทย ทุนจีน , เรื่องคอรัปชั่น รวมไปถึง วัสดุในการก่อสร้างได้มาตรฐานหรือไม่ โดยเฉพาะ “เหล็ก” ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของงานก่อสร้าง ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมความเห็นภาคเอกชนและนักวิชาการถึงการตั้งข้อสังเกตในมุมต่างๆ ที่น่าสนใจ
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยว่า กรณีตึกสตง.ถล่ม ทำให้หลายคนโฟกัสว่าใช้เหล็กคุณภาพต่ำหรือไม่ และโครงการนี้ใช้เหล็กแบบไหนทำไมโครงสร้างไม่แข็งแรง โดยตั้งข้อสังเกตว่าโดยทั่วไป ในตึกสูงๆ มีการใช้เหล็ก 4 ประเภทหลักคือ เหล็กเสริมคอนกรีต เหล็กรูปพรรณ เหล็กรูปพรรณรีดเย็น เหล็กแผ่นและลวด โดย เหล็กเสริมคอนกรีต (Rebar) หรือ เหล็กเส้น สัดส่วนที่ใช้มากสุด 75% ซึ่งใช้ในฐานราก เสา คาน พื้น บันได ดาดฟ้า นั้นคือ เหล็กเส้นจะใช้ทุกส่วนที่มีคอนกรีต
อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน
“พูดง่ายๆ คือใช้ทั้งอาคาร ส่วนเหล็กรูปพรรณ สัดส่วนใช้ 15-20% ใช้ในโครงสร้างหลังคา ลิฟท์ หรืออื่น ๆ ”
สำหรับตึก สตง. ที่ถล่ม ใช้เหล็กทั้งตึกโดยประมาณ 2,000 ตัน นั่นแสดงว่า ใช้เหล็กเส้น 1,500 ตัน เหล็กรูปพรรณ 360 ตัน เหล็กรูปพรรณรีดเย็น 80 ตัน และเหล็กลวด 20 ตัน ซึ่งเหล็กเส้น เหล็กรูปพรรณ โรงงานจีนในประเทศไทยสามารถผลิตได้ในราคาถูก
ส่วนกรณีที่ตั้งคำถามกันว่า ทำไมโครงสร้างไม่แข็งแรง ดร.อัทธ์ ตั้งข้อสังเกต ไว้ 3 ด้าน 1.การใช้เหล็กจีน ที่มีราคาถูกกว่า เหล็กไทย 10-20% ราคาที่ถูก อาจจะทำให้ได้เหล็กที่มีคุณภาพต่ำตามไปด้วย หรือแม้ว่าจะเป็นเหล็กนำเข้า ราคาก็ถูกกว่าเหล็กไทยอยู่ดี
2.แม้ว่าการตรวจสอบโรงงานการผลิตเหล็กจีนในไทย (ขณะตรวจสอบ) แต่ในกระบวนการผลิตจริง ไม่มีใครรู้ว่า ส่วนผสมของวัตถุดิบอาจจะไม่ตรงตามมาตรฐาน และ 3.คนไทยทราบกันโดยทั่วไปว่า ในวงการรับเหมาก่อเสร้าง “มีการลดสเปก” เพื่อให้ได้มีเงินเหลือ แบ่งปันกัน
อย่างไรก็ตามผลกระทบครั้งนี้ทำให้รู้ว่า การบริหารจัดการ การเตือนภัยล้มเหลวสิ้นเชิง ประชาชนขาดความมั่นใจ การช่วยคนติดในตึกถล่ม ยังไม่ดีพอ วัดจากวันเวลาที่เข้าไปช่วยเหลือนานเกินไป ชีวิตคนและครอบครัว ที่ติดอยู่ รอไม่ได้ ขณะที่การขนส่งประชาชนกลับที่พัก ไม่มีรถสาธารณะอื่นมาบริการแทนหรือเสริมเลย เมื่อรถไฟฟ้าหยุดบริการ การสร้างความมั่นใจในตึกสูง ๆ ว่าปลอดภัยแค่ไหน แต่ละคอนโด ตรวจสอบกันเอง
นอกจากนี้จะกระทบการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวไม่มั่นใจว่า ระบบโครงสร้างและมาตรฐานอาคารสูง ๆ จะปลอดภัยหรือไม่ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และคอนโดมิเนียม จะกระทบเศรษฐกิจโดยรวม รวมไปถึงตอกย้ำ ประเทศไทย ไม่โปร่งใส มีนอก มีใน ในทุกภาคส่วน และการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐาน ยังต่ำกว่าสิงคโปร์ และเวียดนาม และไทยไม่มีแผนปฎิบัติการในสถานการณ์ภัยพิบัติฉบับประชาชน ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ประชาชนต้องทำอย่างไร
ขณะที่ด้าน นายพงษ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี มองว่าที่มาของตึก สตง.ถล่มคงต้องไปดูทั้ง 3 ส่วนคือ การออกแบบ วัสดุที่ใช้ และวิธีการก่อสร้าง เพราะใน 3 ส่วนนี้ต่อให้ถูกต้อง 2 ส่วน ผิดเพียงแค่ 1 ส่วนคุณภาพของอาคารที่สร้างเสร็จก็แย่อยู่ดี ฉะนั้นจะพุ่งเป้าไปที่เหล็กอย่างเดียวคงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพียงแต่เกิดภาพจำจากการสื่อสารในสื่อออนไลน์ของโครงการที่มีปัญหาในประเทศจีนที่เหล็กคุณภาพต่ำ จนทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าโครงการอาคาร สตง.นี้ใช้เหล็กปลอมหรือไม่ หรือใช้เหล็กจีนคุณภาพต่ำ
ทั้งนี้คงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทุกคนก่อนว่าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตไม่ว่าจะผลิตในประเทศ หรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้องได้รับอนุญาตตามมาตรฐานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น เพราะเหล็กเส้นมีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภคจึงถูกกำหนดให้เป็น มอก.ประเภทบังคับ
พงษ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี
“ผู้ผลิตรวมถึงผู้นำเข้าทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน ฉะนั้นเมื่อมีการไปตรวจสอบเหล็กที่พังถล่มลงมาหากไม่ผ่านตามมาตรฐานที่กำหนด แสดงว่าประชาชนผู้บริโภคเชื่อถือมาตรฐานแค่ป้ายตราสัญลักษณ์ว่าได้การรับรอง มอก.ไม่ได้เลยใช่หรือไม่”
นอกจากนี้ไม่อยากให้ละเลยอีก 2 ส่วนที่เหลือ ทั้งการออกแบบ คำนวณมาอย่างไร วิศวกรท่านใดเซ็นรับรอง การควบคุมวิธีการก่อสร้างถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนหรือไม่ เพราะในสองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับวิชาชีพและสภาวิชาชีพวิศวกรค่อนข้างมาก น่าจะมีรายงานการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่คำตอบสำหรับคำถามที่ว่าทำไมถึงถล่มได้ในที่สุด
นายพงษ์เทพ กล่าวอีกว่า ปัญหาเหล็กเส้นที่ผลิตในประเทศทุกวันนี้ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันทั้งเหล็กที่ผ่านกระบวนการเตาอาร์คไฟฟ้า(EAF) และเหล็กที่ผ่านกระบวนการเหนี่ยวนำไฟฟ้า(IF) ซึ่งทั้งสองกระบวนการมีความสามารถในการควบคุมคุณภาพและค่าเคมี รวมถึงการกำจัดสารเจือปนและสิ่งแปลกปลอมออกจากเหล็กได้ไม่เท่ากัน แต่อยู่ภายใต้ มอก.หมายเลขเดียวกัน
โดยเป็นที่ทราบและยอมรับกันว่าเหล็ก EAF มีคุณภาพดีสม่ำเสมอมากกว่าเหล็ก IF แต่สภาพตลาดเหล็กเส้นในประเทศไทยหลายปีมานี้นับตั้งแต่ภาครัฐอนุญาตให้มีการตั้งโรงงานเหล็ก IF ของผู้ประกอบการจีนขึ้นในประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นแบบ EAF ปิดกิจการลงจำนวนมากเพราะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า
ฉะนั้นทางออกในเรื่องวัสดุโดยเฉพาะเหล็กเส้นสำหรับภาคเอกชนคือเมื่อมีการส่งมอบเหล็กเข้าโครงการควรมีการสุ่มเช็คคุณภาพเหล็กในแต่ละล็อต อย่าเชื่อเพียงแค่ระบุว่าผู้ผลิตรายนั้นได้รับใบอนุญาต มอก.แล้ว ขณะที่ภาครัฐที่กำกับดูแลมาตรฐานคือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)นั้น ก็ควรหมั่นตรวจสอบสินค้าเหล็กเส้นที่วางขายในตลาดอย่างสม่ำเสมอ
“เพราะยังมีผู้ประกอบการบางรายเมื่อได้ใบรับรอง มอก.แล้ว มีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจในการควบคุมคุณภาพโดยคำนึงแต่ผลกำไร”
ด้าน นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือหากมีการทำธุรกิจหวังแต่ผลกำไรโดยขาดความรับผิดชอบด้านมาตรฐานคุณภาพ จะไล่จับกันไม่ไหว
ส่วนในแง่ผู้บริโภคที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นความจำเป็นและถึงเวลาที่ผู้บริโภคต้องตื่นรู้ถึงผลเสียหรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น จากนี้ไปทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเร่งให้ความรู้กับผู้บริโภค ไม่ซื้อสินค้าที่ไม่น่าเชื่อถือ เพียงเพราะราคาถูกผู้ผลิตด้อยคุณภาพเหล่านั้นก็จะไม่สามารถขายสินค้าได้ ถ้าไม่ปรับปรุง และไม่มีคนซื้อก็จะต้องออกจากธุรกิจไปในที่สุด
บัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสภาอุตสาหกรรม
นอกจากนี้การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพราะขาดธรรมาภิบาล ขาดการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน แล้วเอาต้นทุนต่ำไปตัดราคาผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน ซึ่งแน่นอนต้นทุนต้องสูงกว่า แล้วต้องทยอยปิดกิจการไปเพราะทนการขาดทุนไม่ไหวดังที่เกิดอยู่ในขณะนี้ สุดท้ายผู้รับผลกระทบคือผู้บริโภคและสังคม