นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เผยว่าจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการ ของบางกอกแอร์เวย์ส ช่วงครึ่งปีแรกดีกว่าคาดไว้ สายการบินจึงได้ปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ตลอดทั้งปีนี้ พร้อมเดินหน้าล้างขาดทุนสะสม รวมถึงมองการขยายสนามบินต่อเนื่อง
จากผลประกอบช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้ BA ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้จากการขายตั๋วเครื่องบินเพิ่มจาก 1.5 หมื่นล้านบาท เป็น 1.6 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เป็น 78% จากเดิม 76% และราคาตั๋วเครื่องบินเฉลี่ย เพิ่มเป็น 3,700 บาท/เที่ยว จากเดิมวางเป้าไว้ 3,400 บาท แต่ยังคงเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารปี 66 ที่ 4.4 ล้านคน และเที่ยวบิน 48,000 เที่ยว
ทั้งดีมานต์การเดินทางที่เพิ่มขึ้น สายการบินจึงเตรียมจะเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยจะเปิดเส้นทางบินใหม่ ดอนเมือง-สมุย 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่ม 29 ต.ค.นี้ ใช้เครื่องบินเล็ก ATR เพื่อรองรับลูกค้าในโซนด้านนี้ที่เป็นคนละกลุ่มกับผู้ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ การกลับมาเปิดบิน กรุงเทพ-มัลดีฟส์ เริ่ม ก.ย.66 และการเปิดเส้นทางบินสมุย-ฉงชิ่ง และสมุย-เฉิงตู ที่คาดว่าจะเริ่มบินในเดือน พ.ย.นี้
รวมถึงได้ร่วมมือกับสายการบินต่างๆ อาทิ การบินไทย เอมิเรตส์ กาตาร์ แอร์เวย์ในการทำอินเตอร์ไลน์ (ใช้ตั๋วใบเดียวจากสนามบินต้นทาง สามารถรับกระเป๋าสนามบินปลายทางได้ โดยไม่ต้องโหลดกระเป๋าใหม่)
ล่าสุดร่วมมือกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ และแอร์อินเดีย ในการทำโค้ดแชร์ (ทำการบินรหัสร่วม)และอินเตอร์ไลน์ร่วมกัน เพื่อขยายเน็ตเวิร์คการให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์ส ได้ทำโค้ดแชร์กับสายการบินพันธมิตรรวมกว่า 28 สายการบินแล้ว และการทำอินเตอร์ไลน์ รวมกว่า 68 สายการบิน
นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมแผนขยายฝูงบินรองรับ โดยจะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 2 ลำในต้นปี 67 และวางแผนในช่วง 3-5 ปี จะเพิ่มฝูงบินเป็นกว่า 30 ลำ จากก่อนโควิด บริษัทมีจำนวนเครื่องบิน 40 ลำ โดยปัจจุบันมีฝูงบิน 26 ลำ แบ่งเป็น เครื่องแอร์บัส A320 จำนวน 3 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A319 จำวน 13 ลำ และ เครื่องบิน ATR72-600 จำนวน 10 ลำ ปัจจุบันนำมาใช้บิน 20-21 ลำ ส่วนที่เหลือรอซ่อมบำรุง ซึ่งหากมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นก็มองการขยายเที่ยวบินเพิ่มขึ้นในกลุ่ม CLMV
อย่างไรก็ตามจากรายได้ของสายการบินดีขึ้นและมีทิศทางเป็นบวก ทำให้ BA มองเรื่องการล้างขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 โดยจะนำ สำรองตามกฎหมายและส่วนเกินมูลค่าหุ้นมาหักกลบกับขาดทุนสะสม ทำให้ขาดทุนสะสมสิ้น 30 มิ.ย.นี้ ที่ 13,720 ล้านบาท ลดลงเหลือ 4,291 ล้านบาท ซึ่งบริษัทก็คาดหวังจะมีผลประกอบการดีเพื่อล้างขาดทุนสะสมได้เร็ว
นอกจาก BA จะมีรายได้จากธุรกิจสายการบินอยู่ที่ราว 80% แล้ว ยังมีรายได้จากธุรกิจกิจการสนามบิน และสัมปทานในสนามบิน ที่ BA ก็มองการขยายธุรกิจในส่วนนี้ เพื่อเพิ่มรายได้ ต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
นายพุฒิพงศ์ ยํ้าว่า ธุรกิจ สนามบินให้ Yield (อัตราผลตอบแทน) ที่ดีกว่าธุรกิจสายการบิน เราจึงมองโอกาสในการขยายสนามบิน ซึ่งปัจจุบันบริษํทฯเป็นเจ้าของสนามบินที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว 3 แห่ง คือ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด
แต่เราก็ยังมองถึงการลงทุนสนามบินใหม่ด้วย ถ้ามีโอกาสก็ยังสนใจจะลงทุนสนามบินพังงา บริเวณโคกกลอย ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ก็มองพื้นที่นี้ไว้เช่นกัน
ดังนั้นเราคงต้องรอดูข้อสรุปว่าทาง ทอท. จะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาสนามบินพังงาหรือไม่ ถ้าทอท.ไม่ลง เราก็พร้อมลงทุน แต่หาก ทอท.ยืนยันว่าจะลงทุน บางกอกแอร์เวย์สก็รอทำ การบินอย่างเดียว เพื่อเปิดเส้นทางบินใหม่ รองรับการเดินทางเข้า จ.พังงา เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง นักท่องเที่ยวนั่งเครื่องบินเข้าสนามบินภูเก็ตแล้วเลือกเดินทางตรงไปพังงาก็มีจำนวนมาก
รวมทั้งหลังโควิด-19 มีสายการบินต่างๆ ประมาณ 6-8 ราย เลือกเปิดเส้นทางระหว่างประเทศบินตรงเข้าภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น จากเดิมให้บริการแค่เส้นทางบินตรงสู่กรุงเทพฯ เท่านั้น หากมีสนามบินพังงามาเพิ่ม ก็จะช่วยแบ่งเบาความหนาแน่นจากสนามบินภูเก็ตซึ่งเป็นหนึ่งในเกตเวย์สำคัญของประเทศไทย
ขณะเดียวกันบริษัทฯยังเตรียมจะขยายศักยภาพของสนามบินตราด ใช้งบลงทุนราว 1,000 ล้านบาท โดยเตรียมสร้างอาคารผู้โดยสาร (Terminal) หลังใหม่ และขยายทางวิ่ง (Runway) เพื่อรองรับเครื่องบินพาณิชย์ลำใหญ่ขึ้น เช่น แอร์บัส A320 ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น
โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งมีดีมานด์ต้องการบินมาท่องเที่ยว จ.ตราด และจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออก โดยเฉพาะทัวร์ผลไม้ ซึ่งคาดเริ่มก่อสร้างในปี 2567 ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 18 เดือน ซึ่งกว่าจะเสร็จตลาดนักท่องเที่ยวจีนก็คงจะฟื้นตัวพอดี
ในส่วนของสนามบินสมุย ก็มีแผนการขายสินทรัพย์เข้า “กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย” (BAREIT) เพิ่มเติม คาดว่าอีกประมาณ 2 ปีน่าจะ นำสนามบินสมุยอีกส่วน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยต้องการให้สนามบินสมุยมีกิจกรรมมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นตาม ปัจจุบันกองทรัสต์ BAREIT มีรายได้ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นปีละ 2% ตั้งแต่ปี 2567
สำหรับการลงทุนสนามบินอู่ตะเภา ที่เป็นธุรกิจสนามบินที่บริษัทฯได้เข้าไปร่วมลงทุนในนาม บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) นั้น UTA เตรียมทยอยเพิ่มทุนจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท ถ้ายังไม่มีการส่ง มอบพื้นที่ก็จะยังไม่ใส่เงินเพิ่มทุน ซึ่งคาดว่าทางอีอีซี น่าจะออกหนังสือ NTP ส่งมอบพื้นที่ให้เริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2567
โดยตามแผน UTA จะเริ่มงานก่อสร้างในเฟสแรก สร้างอาคารผู้โดยสารเฟสแรก รองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปี ก่อสร้าง 3 ปี ใช้เงินกู้ 70% ส่วนทุน 30% ซึ่งคาดว่าจะใช้ส่วนทุน 9,000 ล้านบาท
ในด้านของธุรกิจสัมปทานภายในสนามบินสุวรรณภูมินั้น BA มีสัญญาในการดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการภาคพื้น และครัวการบิน ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2569 เราก็พร้อมจะยื่นเสนอตัวที่จะเข้าประมูลใหม่ แม้ว่าทอท.จะเปิดให้มีการสัมปทานในโครงการนี้สำหรับผู้ประกอบการที่ราย 3 ด้วย โดยคงต้องขอความชัดเจนจากทอท. ว่าจะมีแนวทางอย่างไร
เพราะการลงทุน อุปกรณ์ต่างๆ ต้องใช้เวลาในการจัดหาอุปกรณ์ และปัจจุบันการให้บริการในส่วนเหล่านี้ก็สามารถรองรับได้ทันกลับดีมานต์แล้ว ไม่เหมือนช่วงแรกๆที่ดีมานต์การเดินทางกลับมาเร็ว สวนทางกับจำนวนพนักงานที่จัดหาไม่ทัน หลังจากพนักงานได้ออกจากอาชีพนี้ไปจากผลกระทบของโควิด-19 และไม่ยอมกลับมาสมัครงานต่อ
ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของ BA ที่จะเกิดขึ้น