การบินไทย ออกจากแผนฟื้นฟูกลางปี 68 ระดมทุนเพิ่ม 8 หมื่นล้าน

10 พ.ย. 2566 | 06:42 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2566 | 06:50 น.

การบินไทย ออกจากแผนฟื้นฟูกลางปี 68 ระดมทุนเพิ่ม 8 หมื่นล้านบาท ยื่นศาลฯภายในปีหน้า คาดผลประกอบการปีนี้แตะ 1.5 แสนล้านบาท แต่นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้า 40% ของปี 62 ย้ำ วีซ่าฟรีจีนไม่ช่วยอะไร ปัจจัยลบอื่น ๆ อีกเพียบ พร้อมปัดขอกลับเป็นสายการบินแห่งชาติ

วันที่ 10 พ.ย.​ 66 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายในปีหน้า (2567) ต้องเร่งดำเนินการตามแผนจัดหาเงินทุนให้ได้ 80,000 ล้านบาท เพื่อให้มีทุนทุนจดทะเบียนเป็นบวก ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก จากนั้นจะเริ่มดำเนินการ ยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอจากแผนฟื้นฟู คาดว่าจะดำเนินการทั้งหมดภายในกลางปี 2568 จากปกติตามกรอบระยะเวลาเดิมคือใช้เวลา 5 ปีหลังเริ่มเข้าฟื้นฟูองค์กร ซึ่งหากเริ่มนับตั้งแต่ วันที่ 15 มิ.ย. 2564 ก็จะเท่ากับปี 2569

โครงการการเสนอขายตามแผนฟื้นฟูฯ (แผนเพิ่มทุนรวม 80,173 ล้านบาท)

แปลงหนี้เป็นทุน

  • สินเชื่อใหม่ (Term Loan) 12,500 ล้านบาท
  • กระทรวงการคลัง 12,827 ล้านบาท
  • เจ้าหนี้สถาบันเงินกู้และหุ้นกู้ 25,000 ล้านบาท
  • ดอกเบี้ยตั้งพัก 4,845 ล้านบาท

ออกหุ้นเพิ่มทุน

  • ผู้ถือหุ้นเดิม (PPO) 25,000 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 3 การบินไทยมีรายได้รวม 37,008 ล้านบาท ทำให้ช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2566 การบินไทยมีรายได้รวม 115,897  ล้านบาท หากมีผลประกอบการยังคงอยู่ในระเดียวกันกับไตรมาสก่อน คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้รวมถึง 150,000 ล้านบาท

คาดการณ์รายได้ปีหน้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด19 ระบาด ที่มีรายได้ประมาณ 180,000 ล้านบาท และในปี 2568 คาดว่าจะมีรายได้เติบโตกว่าปี 2562 

การบินไทย ออกจากแผนฟื้นฟูกลางปี 68 ระดมทุนเพิ่ม 8 หมื่นล้าน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลประกาศวีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวจีน ก็ทำให้คาดว่าปริมาณผู้โดยสารชาวจีนน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ของปี 2562 แต่ด้วยเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาและยังไม่ฟื้นตัว ทำให้มียอดจองในช่วง Golden Week เข้ามาบ้าง แต่พอหมดช่วงเทศกาลก็ลดลงพอสมควร ทำให้ปัจจุบันผู้โดยสารจากจีนฟื้นตัวได้เพียง 40% ของปี 2562 ส่วนวีซ่าฟรีคาซัคสถาน ไม่มีผลอยู่แล้ว เพราะการบินไทยไม่ได้เปิดทำการบินในเส้นทางนี้ 

 

ก่อนหน้านี้ได้เปิดเส้นทางใหม่ อีสตันบูล โดยทำการตกลงการทำการบินร่วมกันระหว่างสายการบิน (โค๊ดแชร์) กับเตอร์กิชแอร์ไลน์ ใช้อีสตันบูลเป็นจุดต่อเครื่องเชื่อมต่อยุโรปใต้ เช่น สเปน โรม รวมถึงเอเชียกลาง และแอฟริกา แต่การตอบรับยังไม่ดีเท่าที่ควรทำให้อาจต้องปรับการบินใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำให้ผู้โดยสารลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสียงอีกหลายด้าน เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก ตลาดยุโรป อเมริกา ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร แม้การบินของทั้ง 2 ภูมิภาคจะกลับมาปรับตัวเกือบเท่าก่อนโควิด19 ระบาดแล้ว ส่วนการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกฟื้นตัวช้า ส่วนตลาดออสเตรเลีย ไม่สามารถทำการบินได้ เพราะเครื่องบินไม่เพียงพอ 

แผนการจัดหาเครื่องบิน ล่าสุดการบินไทยได้ลงนามในสัญญาเช่าไปแล้ว 26 ลำรับมาแล้ว 3 ลำ เหลืออีก 23 ลำ จะนำส่งกลางปีหน้าอีก 10 ลำ และนำส่งครบทุกลำภายในปี 2568 ประกอบด้วย

  • Boeing 787-900 : 1 ลำ
  • Air Bus A-350 : 11 ลำ
  • Air Bus A-330 : 2 ลำ
  • Air Bus A-321 : 12 ลำ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อสอบถามว่า การบินไทยต้องการขอกลับไปเป็นสายการบินแห่งชาติหรือไม่ นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันตามมติ ตรม. ไม่ได้นิยามการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ และไม่มีแผนกลับไปแน่นอน แม้จะเคยเป็นในอดีต เพราะยังไม่เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงไม่มีแผนกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิชอีกด้วย