พลิกโฉมภูเก็ต มารีน่าฮับ ผุด“พอร์ต มัจฉานุ” รับซุปเปอร์ยอร์ชใหญ่สุดเอเชีย

17 พ.ย. 2566 | 05:32 น.
อัพเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2566 | 06:06 น.

กลุ่มภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช พลิกที่ดิน 1,900 ไร่ ขับเคลื่อนภูเก็ตสู่มารีน่าฮับเอเชีย ผุดโครงการ “พอร์ต มัจฉานุ” อู่ซ่อมเรือ-ท่าจอดเรือซุปเปอร์ยอร์ชใหญ่สุดในเอเชีย สนามบินไพรเวท เจ็ท มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3 พันล้านบาท รับดีมานต์เรือยอร์ชขนาดใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี

แนวโน้มการท่องเที่ยวโดยเรือยอร์ชเป็นตลาดที่เติบโตสูง และหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภูเก็ตในช่วง 5 ปีนี้ คือ ผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวทางทะเล (Marina Hub) หรือ มารีนา ฮับ ของเอเชีย ทำให้ในขณะนี้ภูเก็ต กำลังจะเกิดการลงทุนมารีน่า โดยภาคเอกชนอยู่หลายแห่ง

หนึ่งในนั้นคือบิ๊กโปรเจ็กต์ของ “พอร์ต มัจฉานุ” ที่จะสร้างอู่ซ่อมเรือซุปเปอร์ยอร์ชและท่าจอดเรือซุปเปอร์ยอร์ชที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และสนามบินไพรเวท เจ็ท ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือเกาะภูเก็ต ใกล้ๆกับภูเก็ต ยอร์ช เฮเว่น มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3,000 ล้านบาท

ผุด“พอร์ต มัจฉานุ” อู่ซ่อมเรือ-ท่าจอดเรือซุปเปอร์ยอร์ชใหญ่สุดในเอเชีย

นายดิฐพงศ์ ฐิตะดิลก ประธานบริษัทภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ “พอร์ต มัจฉานุ” ให้บริการอู่ซ่อมเรือยอร์ชและซุปเปอร์ยอร์ช รวมถึงท่าจอดเรือซุปเปอร์ยอร์ช (มารีน่า) จำนวน 70 ลำ บนพื้นที่ 100 ไร่ บริเวณ ต.ไม้ขาว จ.ภูเก็ต มูลค่าการลงทุนราว 2 พันล้านบาท

พอร์ต มัจฉานุ

โดยจะเป็นอู่ซ่อมเรือยอร์ชและท่าจอดเรือซุปเปอร์ยอร์ชที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดภูเก็ต ที่วางเป้าหมายขับเคลื่อนให้ภูเก็ตเป็นเมืองศูนย์กลางของการท่องเที่ยวทางทะเล (Marina Hub) หรือมารีนา ฮับของเอเชีย

โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งบนพื้นที่ 1,900 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของครอบครัวที่ก่อนหน้านี้ทำด้านการเกษตรก่อนจะมาปรับเปลี่ยนเป็นการลงทุนอู่ซ่อมเรือขนาดเล็กก่อน ใช้ชื่อว่าภูเก็ต พรีเมียร์โบ๊ทยาร์ด จำกัด ซ่อมและต่อเรือยอร์ชขนาดไซส์เล็กจนถึง 25 เมตร ซ่อมได้ 80 ลำ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตดีมาก จากภูเก็ตที่มีเรือยอร์ชเข้ามาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และเรือที่เข้ามาจะเป็นขนาดใหญ่ขึ้น หรือซุปเปอร์ยอร์ชทำให้เราตัดสินใจขยายการลงทุนสร้างอู่ซ่อมและมารีน่า เพื่อรองรับซุปเปอร์ยอร์ช

ดิฐพงศ์ ฐิตะดิลก

บริษัทเตรียมจะเปิดให้บริการในส่วนของอู่ซ่อมเรือรองรับซุปเปอร์ยอร์ชก่อน ภายใต้ชื่อว่า “PSY Shipyard” จะเริ่มเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ (ซอฟต์โอเพ่นนิ่ง)ในเดือนธันวาคม 2566 นี้ รองรับการซ่อมเรือซุปเปอร์ยอร์ช ขนาดถึง 60 เมตร ได้ 15 ลำ โดยเรานำเข้าเครนยกเรือที่ออกแบบสำหรับยกเรือซุปเปอร์ยอร์ชมาจากอิตาลี

ในส่วนของการก่อสร้างมารีน่า หรือท่าจอดเรือยอชต์ “พอร์ต มัจฉานุ” จะจอดซุปเปอร์ยอร์ชได้ 70 ลำ อยู่ระหว่างทำโครงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA คาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี ซึ่งเป็นการออกแบบ การวางโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเพื่อรองรับซุปเปอร์ยอร์ชโดยเฉพาะ อีกทั้งด้วยพื้นที่ที่เป็นทะเลด้านในก็เหมาะสมกับการจอดเรือ และยังมีชายหาดที่เหมาะกับการเล่นกีฬาทางน้ำได้ด้วย

เนื่องจากปัจจุบันในภูเก็ตมีมารีน่า ของเอกชนเปิดให้บริการอยู่เพียง 4 แห่งเท่านั้น และส่วนใหญ่รองรับเรือยอร์ช และมี 2 แห่ง สามารถรองรับซุปเปอร์ยอร์ชได้ แต่ก็ไม่มากนัก ดังนั้นเราจึงสร้างมารีน่าขึ้นสำหรับรองรับซุปเปอร์ยอร์ชโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นตลาดที่เติบโตต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก

ดีมานต์เรือยอร์ชขนาดใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี

ประกอบกับความต้องการในการใช้มารีน่าก็มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อเรามีบริการที่ครบวงจร ทั้งมารีน่า และอู่ซ่อม รวมไปถึงบริการด้านต่างๆ โดยมุ่งไปที่ซูเปอร์ยอชต์ของชาวต่างชาติเป็นหลัก ก็จะได้รับการตอบรับที่ดีจากเรือยอร์ชขนาดใหญ่

พลิกโฉมภูเก็ต มารีน่าฮับ ผุด“พอร์ต มัจฉานุ” รับซุปเปอร์ยอร์ชใหญ่สุดเอเชีย

โดยก่อนโควิด-19 มีเรือยอร์ชเข้าไทยรวมกว่า 1 พันลำต่อปี กว่า 80 % จะมาเข้ามายังฝั่งอันดามัน และกว่า 95% จะเข้ามายังภูเก็ต ทั้งในจำนวนนี้เป็นเรือซุปเปอร์ยอร์ชราว 100 ลำต่อปี หลังโควิดกลับมาแล้วกว่า 50-60 ลำต่อปี และล่าสุดก็เริ่มเห็นว่าในบางประเทศ เช่น โมนาโค สิงคโปร์ มีเรือยอร์ชกลับเข้ามาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว

ประกอบกับการล่องเรือยอร์ชในเอเชียตะวันออกกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งคนยุโรปจะหนีหนาวเข้ามาล่องเรือสูงมาก โดยเฉพาะช่วงไฮซีซัน (พ.ย.-เม.ย.) เนื่องจากภูมิอากาศมีความเหมาะสม จึงเป็นโอกาสของภูเก็ต

แนวโน้มการใช้ซุปเปอร์ยอร์ช ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกปี เป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตสูงมาก เรือ 1 ลำ สร้างรายได้เฉลี่ยให้ท้องถิ่นราว 5 ล้านบาทต่อลำต่อเดือน ไม่ว่าจะเป็นค่าจอดมารีน่า การซื้อเสบียงอาหาร ของใช้ต่างๆ และส่วนใหญ่จะมาอยู่นานกว่า 2 เดือน ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจของภูเก็ตเติบโตขึ้นด้วย

นอกจากโครงการนี้บริษัทยังมีพื้นที่เหลือในการพัฒนาอยู่ สเต็ปต่อไปบริษัทมีแผนจะลงทุนโครงการท่าอากาศยานส่วนบุคคล หรือ สนามบินไพรเวท เจ็ท มูลค่าการลงทุนอีกกว่าพันล้านบาท เพื่อรองรับเจ้าของเรือซุปเปอร์ยอร์ช จากภูมิภาคใกล้เคียง ซึ่งบินจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อนำเรือซุปเปอร์ยอร์ช ที่ลูกเรือได้นำมาจอดไว้ที่นี่ สำหรับล่องเรือท่องเที่ยว

สเต็ปต่อไปผุดสนามบินไพเวท เจ็ท

โครงการสนามบินไพเวท เจ็ท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ และสรุปในเรื่องของหลุมจอดอากาศยาน คาดว่าจะเริ่มขออนุญาตก่อสร้างสนามบินได้ในช่วงต้นปีหน้า คาดว่าโครงการนี้จะต้องใช้เวลาในการพัฒนากว่า 3 ปี ซึ่งก็จะเสร็จใกล้ๆ กับช่วงเปิดมารีน่า

รวมถึงในอนาคตก็มองว่าด้วยพื้นที่ขนาดนี้ยังสามารถลงทุนเพิ่มเติมได้อีก ที่จะหาพันธมิตรเข้ามาร่วมดำเนินการร่วมกันได้ อาทิ สนามกอล์ฟ ขนาด 18 หลุม โครงการเรสซิเด้นท์ หรืออื่นๆเพื่อรองรับการให้บริการที่ครบวงจรในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งที่เป็นกลุ่มเรือยอชต์ และนักกอล์ฟต่อไป นายดิฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

พอร์ต มัจฉานุ ภูเก็ต

เอกชนลุยพัฒนา มารีน่า ภูเก็ต

ปัจจุบันภูเก็ตมีมารีน่าสำหรับให้บริการจอด เรือสปีดโบ๊ต เรือนำเที่ยว และเรือยอชต์ เปิดให้บริการอยู่แล้ว 5 แห่ง เป็นท่าเทียบเรือของเอกชน 4 แห่ง และของรัฐอีก1 แห่ง ประกอบด้วย ภูเก็ต ยอร์ช เฮเว่น มารีน่ารองรับเรือยอร์ชได้ 300 ลำ อ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า รองรับเรือยอร์ชได้ 320 ลำ

รอยัล ภูเก็ต มารีน่า รองรับเรือยอร์ชได้ 95 ลำ ภูเก็ต โบ๊ทลากูน รองรับเรือยอร์ชได้ 300 ลำ และท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง บริหารโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เป็นท่าเรือสาธารณะขนาดใหญ่ ที่มีเรือทั้งเรือสาธารณะและเรือเช่าเหมาลำมาจอด รองรับเรือได้จำนวน 240 ลำ

อย่างไรก็ตามนอกจากโครงการพอร์ต มัจฉานุ แล้ว ในขณะนี้ยังมีอีก 4 โครงการในภูเก็ตที่ภาคเอกชนมีแผนจะลงทุน และอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้แก่ โครงการของ บริษัท มะขาม เบย์ มาริน่า จำกัด ในพื้นที่บ้านอ่าวมะขาม รองรับเรือ 30 เมตร ได้ 130 กว่าลำ ใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท

โครงการ “อ่าวกุ้ง มารีน่า” ต.ป่าคลอก เป็นเรือท่าเรือขนาดเล็ก รองรับเรือขนาดไม่เกิน 18 เมตร ได้ 75 ลำ ลงทุนราว 800 ล้านบาท โครงการ “กรีนพอร์ท มารีน่า” ต.ไม้ขาว รองรับเรือได้ 219 ลำ และการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของมารีน่า ของท่าเรือพิสิษฐ์พันวา เป็นต้น