ธุรกิจการบินของไทยหลังโควิด-19 ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ไทยมีการฟื้นตัวของเที่ยวบินระหว่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 71%จากปี 2562 แล้ว ทั้งยังมีแนวโน้ม ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปีหน้าอุตสาหกรรมการบินของไทยจะฟื้นกลับมา 100% เท่ากับปี 2562 ส่งผลให้ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมแผนรองรับการเติบโตที่เกิดขึ้น และก้าวไปสู่การเป็นฮับการบินในภูมิภาคระดับโลกในอนาคต
นายยงยุทธ ลุจินตานนท์ ผู้จัดการพื้นที่ประเทศไทย ลาว กัมพูชา และ เมียนมา สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เผยว่าหลังโควิดคลี่คลายจะเห็นชัดเจนว่าในปีที่ผ่านมาและปีนี้ไทยมีเที่ยวบินในประเทศเพิ่มขึ้นสูงมาก สูงกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน (ม.ค.-ก.ย. 2566) มีเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าไทยคิดเป็นสัดส่วน 71% จากก่อนโควิด
แต่ก็มีแนวโน้มที่เที่ยวบินระหว่างประเทศก็กำลังขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ใกล้จะเท่ากับการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินภายในประเทศ ขณะที่เทรนด์ของผู้โดยสารก็มีแนวโน้มกลับขึ้นมาอยู่ที่ 78-79% และไทยมีอัตราการฟื้นตัวอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน ทั้งในแง่ของการเดินทางเข้าประเทศ (อินบาวด์) และการเดินทางออกนอกประเทศ (เอ้าท์บาวด์)
ขณะที่นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่าเมื่อดูจากแนวโน้ม การฟื้นตัวของธุรกิจการบินในไทย ก็คาดว่าในปีหน้าจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินน่าจะกลับมาเท่ากับปีก่อนเกิดโควิด ที่คาดว่าผู้โดยสารจะแตะระดับ 100 ล้านคนในกรณี Best Case หรือ 80 กว่า % ในกรณี Worst Case
ในส่วนของจำนวนเที่ยวบินเราก็คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมา ซึ่งในปี 2562 ไทยมีเที่ยวบินทั้งหมด 1,070,000 เที่ยวบินต่อปี แบ่งเป็นเที่ยวบินในประเทศ 5.4 แสนเที่ยวบินและเที่ยวบินระหว่างประเทศ 5.3 แสนเที่ยวบิน และ CAAT มองเห็นว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าในปี 62 หรือ 3 ล้านเที่ยวบินต่อปี แต่ด้วยความที่ศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินของไทยอยู่ที่ 6-7 แสนเที่ยวบินต่อปีเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหา เที่ยวบินล่าช้า
ดังนั้นเพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น CAAT ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2566 - 2571 เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมมิติต่างๆ ทั้งด้านมาตรฐานสากล ด้านการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ด้านคุณภาพการบริการ และด้านประสิทธิภาพและการพัฒนาองค์กร นอกจากนี้ CAAT ยังได้จับมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเตรียมจัดทำแผนแม่บท หรือ Drone Master Plan ให้ออกมาเป็น Roadmap สำหรับประเทศไทย
รวมไปถึงเจรจากับฝ่ายความมั่นคงเพื่อขอใช้น่านฟ้าให้เกิดความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น ภายใต้แผนห้วงอากาศแห่งชาติที่จะเกิดขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจการบินของไทย ขยายตัวต่อเนื่องสัมพันธ์กับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของไทย
ทั้งจากแนวโน้มของ IATA ก็คาดว่าในอีก 10 ปีจากนี้ (ปี 2576) จำนวนผู้โดยสารของไทย จะขยับมาอยู่อันดับ 9 ของโลก (อันดับ 1 จีน อันดับ 2 สหรัฐอเมริกา อันดับ 3 อินเดีย อันดับ 4 อินโดนีเซีย อันดับ 5 สหราชอาณาจักร อันดับ 6 สเปน อันดับ 7 ญี่ปุ่น อันดับ 8 เยอรมนี อันดับ 9 ไทย อันดับ 10 ฝรั่งเศส)
อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่การขยายตัวของเที่ยวบินจากต่างประเทศเข้าไทยเท่านั้น จะเห็นการขอจัดตั้งสายการบินใหม่สัญชาติไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้ กพท.ได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating Licence) หรือ AOL ให้แก่สายการบินใหม่ของไทยแล้ว 9 สายการบิน ที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate) หรือ AOC เพื่อให้สามารถปฏิบัติการบินได้ ได้แก่
ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยว ทำให้กระทรวงคมนาคม เดินหน้าเพิ่มศักยภาพของสนามบินและการขนส่งทางอากาศเพื่อรองรับการเดินทางเข้าไทยที่มีดีมานด์เพิ่มขึ้น
นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากระทรวงคมนาคม มีแผนจะดำเนินการใน 3 ระยะในการเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว สร้างการเป็น HUB เพื่อการเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ ได้แก่
1. การดำเนินงานระยะเร่งด่วนภายใน 1 ปี โดยมอบหมายให้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ร่วมกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ดำเนินการจัดสรรเวลาการบินให้เพิ่มขึ้น 15% ต่อสัปดาห์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น
2. การดำเนินงานระยะกลาง 1-3 ปี ที่มุ่งเน้นถึงการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3. การดำเนินงานระยะยาว 5-7 ปี คือการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่มีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ เช่น การก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานพังงา (ภูเก็ตแห่งที่ 2) หรือท่าอากาศยานอันดามัน
โดยสอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศที่ กพท. ได้จัดทำไว้ ซึ่งคาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 50 ล้านคนต่อปี
ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางในการรองรับบริษัทใหม่ของธุรกิจการบินที่จะเกิดขึ้น