AOT ยันมาตรการช่วยเหลือสายการบิน-คิงเพาเวอร์ ไม่กระทบรายได้

27 พ.ย. 2566 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2566 | 15:42 น.

AOT ยันมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ทั้งการลดค่าบริการขึ้นลงอากาศยานให้สายการบิน รวมถึงการเลื่อนจากจ่ายเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ประกอบการภายในสนามบินรวมคิงเพาเวอร์ไม่กระทบรายได้

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.หรือ AOT กล่าวว่า การออกมาตรการช่วยเหลือสายการบิน และผู้ประกอบการในสนามบินรวมคิงเพาเวอร์ จะไม่กระทบต่อรายได้ของทอท.อย่างแน่นอน

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ทั้งนี้ทอท.มีการให้ส่วนลดกับสายการบินที่สามารถเพิ่มเที่ยวบิน นอกเหนือจากจำนวนเที่ยวบินตามตารางการบิน โดยจะได้รับส่วนลดค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน 175 บาทต่อผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 1 คน แต่ส่วนลดนั้นจะต้องไม่เกิน 75% ของค่าบริการขึ้นลงของอากาศยานของเที่ยวบินส่วนเพิ่ม ระยะเวลาในช่วง 1 พ.ย.66-31 มี.ค.67 เป็นการให้ส่วนลดเฉพาะ slot ที่คาดว่าเพิ่มจะช่วยทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 15%

สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในสนามบิน ซึ่งรวมถึงกลุ่มคิงเพาเวอร์ ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบเพราะบริษัทยังรับรู้รายได้ เพียงแต่ทอท.ให้เลื่อนชำระส่วนต่างระหว่างค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำกับค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ (เฉพาะกรณีที่ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำสูงกว่าค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ) ของเดือนพฤศจิกายน 2566 – เมษายน 2567 

ในแต่ละงวดให้ขยายระยะเวลาการชำระออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน จากวันครบกำหนดชำระตามระยะเวลาปกติและแต่ละงวดให้สิทธิ์แบ่งชำระได้ 12 เดือน ซึ่งการให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นเพียงการเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ประกอบการออกไปเท่านั้น

ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการเพื่อเตรียมการสำหรับการลงทุนต่างๆ ในการรองรับผู้โดยสารในปีหน้า ซึ่งไม่ใช่การลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนแต่อย่างใด โดย AOT ยังคงได้รับรายได้จากค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวเต็มจำนวน

ทั้งนี้ผลประกอบการปีงบประมาณ 2566 มีกำไรสุทธิ 8,790.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 11,087.86 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 48,140.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 190.71 % จากปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 22,265.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 205.43 %

เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 25,875.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 179.13 % จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากธุรกิจร้านค้าปลอดอากร ธุรกิจการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ธุรกิจจัดส่งอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการภาคพื้นและซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายรวมสำหรับปีงบประมาณ 2566 มี 34,248.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.81 %เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

โดยคาดว่าในปี 2567 (ต.ค.66-ก.ย.67) จำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ 120-130 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากงวดปี 2566 ที่มีผู้โดยสาร 100.06 ล้านคน ซึ่งจะกลับไปใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด ขณะที่ปัจจุบันผู้โดยสารภายในประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว หรือคิดเป็น 95% ของปี 2562 ส่วนผู้โดยสารต่างประเทศกลับมาได้ราว 70-75%

ในปี 2567 เชื่อว่าผู้โดยสารต่างประเทศจะมีความสนใจเดินทางกันมากขึ้น แต่ต้องขึ้นกับสายการบินต่างๆ ด้วยว่าจะมีความพร้อมกลับมาให้บริการได้มากเท่าเดิมแค่ไหนโดยผู้โดยสารชาวจีนนั้น ปีงบประมาณ 66 เดินทางเข้า-ออก สนามบิน 6 แห่งของทอท จำนวน 5.3 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 2.7 ล้านคน ขาออก 2.6 ล้านคน

ในภาพรวม ผู้โดยสารจีนยังฟื้นตัวเพียง 60% เทียบกับปี 62 ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจีน และสายการบินจีนได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงโควิด จึงคาดว่าตลาดจีนต้องใช้เวลาฟื้นตัว แต่มีผู้โดยสารจาก ยุโรปและรัสเซียกลับเข้ามาค่อนข้างมากกว่าเคย ทำให้บริษัทมั่นใจว่าปี 67 จะกลับมาสู่ภาวะปกติและหากจีนกลับมาด้วยก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นกว่าคาดแน่นอน

ส่วนมาตรการวีซ่าฟรี 4 ประเทศ ช่วย กระตุ้นและเพิ่มจำนวนผู้โดยสารระดับหนึ่ง โดยจีน จากก่อนฟรีวีซ่ามี 13,000 คนต่อวัน เป็น 16,000 คนต่อวัน (เพิ่ม 27%), คาซัคสถาน เดิมเฉลี่ย 230 คนต่อวัน เป็น 560 คนต่อวัน (เพิ่มเท่าตัว) ,อินเดีย เดิมเฉลี่ย 5,100 คนต่อวัน เป็น 6,000 คนต่อวัน(เพิ่ม 17%) ,ไต้หวัน เดิม 3,800 คนต่อวัน เป็น 4,500 พันคนต่อวัน(18%)