วันนี้(วันที่ 10 มกราคม 2567) นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แคปิตอล เอ (Capital A) ผู้ก่อตั้งกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย กล่าวภายหลังเข้าพบนายกเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า ทางแอร์เอเชีย ได้เสนอขอให้นายกเศรษฐา พิจารณา 3 ข้อเสนอ ในการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจการบินในภาพรวม และช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ในช่วงที่ธุรกิจการบินฟื้นตัว หลังโควิด-19 คลี่คลายแล้ว ได้แก่
1. ขอให้ภาครัฐพิจารณาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จากอัตรา 4.726 บาทต่อลิตร ขอให้ลดลงราว 40% เท่ากับอัตราเดียวกับที่รัฐบาลสนับสนุนการลดภาษีน้ำมันดีเซล
เนื่องจากเราเห็นว่าใน 4 ประเทศที่กลุ่มแอร์เอเชียให้บริการอยู่ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไม่ได้จัดเก็บภาษีดังกล่าว ขณะที่ ฟิลิปปินส์ เก็บ 2.48 บาทต่อลิตร ส่วนเวียดนาม เก็บ 1.4 บาทต่อลิตร
2.ขอให้บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) พิจารณาคงราคาอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเดินอากาศไว้เท่าเดิม อย่าเพิ่งมีการปรับขึ้นราคา
3.ขอให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เจรจาขอเพิ่มสิทธิการบินในเส้นทางบินระหว่างไทย-อินเดีย
รวมทั้งยังได้ขอบคุณรัฐบาลไทย ที่ออกนโยบายการยกเว้นวีซ่า หรือวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมองว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีในการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพราะเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากนักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางกลับมาเที่ยวอาเซียน ไทยจะยังเป็นเกตเวย์ที่ดี
โดยปัจจุบันสายการบินในกลุ่มแอร์เอเชีย เปิดให้บริการสายการบินใน 4 ประเทศ ได้แก่ แอร์เอเชียอินโดนีเซีย แอร์เอเชียฟิลิปปินส์ แอร์เอเชีย มาเลเซีย และไทยแอร์เอเชีย อีกทั้งเรากำลังจะเปิดแอร์เอเชีย กัมพูชา ในเดือนมีนาคม 2567 นี้
โดยในกลุ่มของแอร์เอเชีย ในเดือนมกราคมปีนี้ ไทยแอร์เอเชีย มียอดขายสูงสุด ทั้งแอร์เอเชียกรุ๊ป ยังมองว่าด้วยเน็ตเวิร์คที่เรามี ทำให้แบรนด์เราแข็งแกร่ง รวมทั้งหลังจากล่าสุดที่ประเทศมาเลเซีย แอร์เอเชีย ได้ควบรวมกับแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก็ทำให้ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารฝูงบินที่ยืดหยุ่นระหว่างการใช้เครื่องบินที่มีขนาดต่างกัน การบริหารตารางการบิน (สล็อตบิน)ให้เชื่อมกันได้ดีขึ้น
อีกทั้งในอนาคตหากไทยแอร์เอเชีย ควบรวมกับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ได้ โอกาสในการบินเดสติเนชั่นใหม่ๆ ก็จะสามารถทำได้ ผ่านการยืดหยุ่นในการใช้เครื่องบินให้สอดคล้องกับดีมานต์ของผู้โดยสาร เช่น เชียงใหม่-ปราก ที่เป็นไปได้ในอนาคต หรือการเปิดเส้นทางใหม่ๆ จากเมืองอื่นๆของไทยไปยังต่างประเทศ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพ หรือ ภูเก็ตเท่านั้น
ผมยังบอกกับนายกเศรษฐาว่าถึงเวลาแล้วกรุงเทพฯ จะเป็นฮับดูไบของอาเซียนได้ เพื่อเชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังทุกที่ในโลก สามารถเชื่อมต่อไปยังยุโรป เอเชีย แอฟริกาได้ เฉพาะในอาเซียนก็มีประชากรมากถึง 700 ล้านคนแล้ว และไทยยังเป็นฮับบินที่ดีสู่ยุโรปด้วย และผมก็มองว่าประเทศไทยควรมีการออกแบบสนามบินสำหรับโลว์คอสต์โดยเฉพาะ
นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า การจะควบรวมไทยแอร์เอเชีย กับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ คงต้องรออีก 2 ปีจากนี้ เนื่องจากต้องรอให้ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเสียก่อน คาดว่าจะออกจากแผนได้ในช่วงปลายปี 2568
ปัจจุบันในระยะยาวสายการบินในกลุ่มแอร์เอเชีย ได้สั่งเครื่องบินเพิ่มอีก 412 ลำ ระยะบิน 8 ชั่วโมง และ 12 ชั่วโมง ในจำนวนนี้คาดว่า ราว 25% ของเครื่องบินที่สั่งไป หรือคิดเป็น 100-150 ลำจะถูกนำมาใช้ปฏิบัติการบินในประเทศไทย