นางจุฑารัตน์ เพ็ชรลุ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาพรวมการก่อสร้างขยายท่าอากาศยานตรังเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ เพื่อรองรับการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวและการแข่งขันกีฬา ความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารที่พักโดยสารหลังใหม่แล้วเสร็จ 97.88%ตามแผนเดิมผู้รับจ้างมีแผนที่จะส่งมอบงานได้สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ แต่ก็ต้องเลื่อนการส่งมอบออกไปปลายมีนาคม 2567 อันเนื่องมาจากสะพานท่าเทียบเครื่องบินบางตัวยังไม่พร้อม อีกทั้งมีการเก็บตกงานในอาคารอีก
หากส่งมอบ ทางกรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนก็ต้องมาตรวจสอบ ทดสอบ ตรวจรับ ระบบภายในอาคารและสนามบินทุกชนิดจนสมบูรณ์แบบ จึงจะประกาศใช้อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ได้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ในอาคารหลังใหม่จะมีพื้นที่ทำการของเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ที่ปฏิบัติงานของสายการบินต่าง ๆ เคาเตอร์เช็คอินสายการบิน ร้านค้าที่จะมาเช่าพื้นที่เพื่อเปิดขายสินค้าทั้งสินค้า แบรนด์ดังจากส่วนกลางและพื้นที่เช่าขายสินค้าในท้องถิ่น จะมีการประกาศเปิดประมูลพื้นที่เช่าขายสินค้าในสนามบิน หากใครสนใจก็ดูในประกาศของกรมและท่าอากาศยานตรังได้
ในเบื้องต้นมีสะพานเทียบเครื่องบินจำนวน 2 ตัว ใช้รับส่งผู้โดยสารในประเทศ 1 ตัว และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1 ตัว เราพร้อมรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศความพร้อม ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ด่านกักกันพืชโรคและสัตว์ และด่านตรวจสุขภาพคน อาคารที่พักผู้โดยสารรองรับได้ 1,200คนต่อชั่วโมง ผู้โดยสารขาเข้า 600คน ผู้โดยสารขาออก 600คน มีห้องน้ำ 10โซล ท่าอากาศยานตรังมีลานจอดรถยนต์จำนวน 1,100คัน มีกล้องวงจรปิดหรือ CCTVจำนวน 220ตัว ก่อนหน้านี้สายการบิน ไทยเวียดแจ็ต เคยมาสำรวจท่าอากาศยานตรัง ส่วนสายการบินเที่ยวบินระหว่างประเทศก็มีแผนที่จะมาทำการบินมายังท่าอากาศยานตรังเช่นกัน”
นางจุฑารัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างขยายทางวิ่งหรือรันเวย์ ทางขับ อากาศยานท่าอากาศยานตรังไปทิศตะวันตกนั้น มีการก่อสร้างรันเวย์ ยาว 2,990.เมตร กว้าง 45.เมตร ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปได้ 33.12% การก่อสร้างอุโมงค์รถไฟใต้ทางวิ่งเครื่องบิน มีความคืบหน้าไปมาก ตามสัญญาจะแล้วเสร็จ 5 มกราคม 2568
ขณะนี้ทางผู้รับจ้างมีแผนที่ทำถนนเลียบท่าอากาศยานตรังสาย 3005 ไปเชื่อมกับถนนยุทธศาสตร์เพื่อให้ชาวบ้านที่ใช้ถนนหัวรันเวย์ทิศตะวันตก สามารถสัญจรไปมาได้เมื่อทำถนนเสร็จ ก็จะปิดถนนหัวรันเวย์ทำการล้มรั้วสนามบินเพื่อถมดินเชื่อมกับอุโมงรถไฟต่อไป
หากการก่อสร้างทางวิ่งแล้วเสร็จ เครื่องบินและอากาศยานสามารถทำการบินขึ้นลงโดยมีเรื่องนำร่องการบิน ถึงแม้นสภาพอากาศจะมีหมอก เมฆหนา ฝนตก เวลากลางคืน เครื่องบินก็ขึ้นลงได้ ปัจจุบันผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว ที่มาใช้ท่าอากาศยานตรัง มาจาก พัทลุงและสตูล
ส่วนการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายความยาวทางวิ่ง โดยวิธีการเวนคืน วงเงิน 868.ล้านบาท พื้นที่ 673ไร่ การเวนคืนมีความคืบหน้าเมื่อเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนเข้ามาทำสัญญากับทางกรม โดยได้วงเงินก้อนแรกมา 250ล้านบาท เพื่อจัดซื้อที่ดินโซลที่ติดกับหัวรันเวย์ทางทิศตะวันตก และในงบประมาณปี 2567 วงเงินอีก 500ล้านบาท ส่วนที่เหลือในปีงบประมาณถัดไป
ส่วนการก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานหรือลานจอดเรื่องบินพาณิชย์ แบบโบอิ้ง รุ่น737-800และแอร์บัส รุ่น 320-200 จอดพร้อมกันในเวลาเดียวได้ 10ลำ ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ผู้รับจ้างส่งมอบงานเมื่อ 13 มิถุนายน 2565
นายชาอิศม์ฉัตร สมหวังณชพล ผู้จัดการสายการบินไทยไลออนแอร์ประจำสถานีตรัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าเมื่อการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่แล้วเสร็จและท่าอากาศยานตรังอนุญาตให้สายการบินเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์สำนักงานในท่าอากาศยานหลังใหม่ได้ ทางสายการบินไทยไลออนแอร์และสายการบินอื่น ๆ พร้อมที่จะเข้าไปปฎิบัติหน้าที่ได้ทันที
ทั้งนี้ ทราบมาว่าทางท่าอากาศยานตรังได้ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ที่สายการบินทุกสายสามารถใช้เครื่องคอมฯเช็คอินตั๋วผู้โดยสารได้พร้อม ๆ กัน คือสายการบินไม่ต้องซื้อคอมฯของสายการบินเอง อีกทั้งจะมีตู้เช็คอินตั๋วผู้โดยสารได้ที่ตู้อัตโนมัติ “KIOSK”ของท่าอากาศยาน ผู้โดยสารทุกสายการบินเลือกว่าเดินทางกับสายการบินอะไร เที่ยวบินไหน เวลาเท่าไหร่ ก็ออก “บอดิ้งพาส” ได้ด้วยตนเอง
สิ่งที่สำคัญคือ อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่จะได้รับความสะดวกสบายคือ สะพานเทียบเครื่องบิน เกิดฝนตก แดดจ้า ก็ไม่อุปสรรคในการเข้าออกเครื่องบินมีไว้จำนวน 2 ตัว ผู้โดยสารในประเทศ 1 ตัว ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1 ตัว ในเบื้องต้นหากยังไม่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศก็จะใช้สะพานเทียบเครื่องบิน 2 ตัวกับผู้โดยสารในประเทศไปก่อน ในอาคารใหม่ก็มีร้านค้ามากมาย เพื่อให้ผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว ได้เลือกซื้อเลือกใช้สินค้าและบริการ
ส่วนเรื่องที่มีผู้โดยสารพูดถึงประเด็นตั๋วโดยสารเส้นทาง กรุงเทพ-ตรัง ตรัง-กรุงเทพและบางเส้นทางมีราคาสูงนั้นในเรื่องนี้ มาจากสาเหตุ คือภาษีสรรพสามิตที่เก็บ จากน้ำมันเครื่องบินไอพ่น (excise tax) ลิตรละ 20สตางค์ และเมื่อ 1กรกฎาคม 2566 กรมสรรพสามิตกลับมาจัดเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน 4.726บาทต่อลิตร ทำให้ต้นทุนการบินสูงขึ้นมากโดยเฉพาะเส้นทางบินในประเทศ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินมีราคาแพง
อีกทั้งในตั๋วเครื่องบินนั้นจะมีการการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้ามาใช้ในสนามบินทุกแห่ง เช่นสนามบินในสังกัดกรมท่าอากาศยานจะเก็บผู้โดยสารคนละ 50 บาท หากเป็นสนามบินสังกัด การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยคนละ 100บาท และเมษายน นี้จะขึ้นค่าบริการเป็นอีก30บาทเป็น 130 บาท
อีกสาเหตุคือ หากจะเดินและซื้อตั๋วก่อนการเดินทาง 1-3 ตั๋วจะแพงเพราะเหลือที่นั่งลดน้อยลง ทางสายการบินเราแนะนำหากผู้โดยสารที่มีแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้าซื้อตั๋วล่วงหน้าก่อนไม่น้อยกว่า 30 วันจะได้ตั๋วราคาถูก เช่นหน้าเทศกาล ช่วงวันหยุดยาว เช่นนี้ซื้อตั๋วล่วงหน้าไว้ก่อน
นายชาอิศม์ฉัตร กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ สายการบินจากไต้หวันได้เดินทางมาติดต่อกับตนที่จะนำนักท่องเที่ยวมาตรัง โดยจะทำการบินจากไต้หวันมาลงที่ท่าอากาศยานตรัง แต่สนามบินยังไม่พร้อมจึงเลื่อนออกไป
นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบการนำเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็ได้มาติดต่อที่ท่าอากาศยานตรังในการที่จะทำการบินนำนักท่องเที่ยวบินมาลงสนามบินตรังเช่นกัน เชื่อว่าหากอาคารที่พักผู้โดยสารเปิดใช้ในปีนี้ ก็จะมีสายการบินมาทำการบินเพิ่มขึ้น อีกทั้งการก่อสร้างขยายทางวิ่งอากาศยาน ความยาว 2,990เมตร เสร็จสมบูรณ์มีเครื่องนำร่องการบินอัตโนมัติ และประกาศเป็นสนามบินนานาชาติ ธุรกิจการบินที่ท่าอากาศยานตรังก็จะเกิดความคึกคักเป็นอันมากอย่างแน่นอน
นายสมศักดิ์ เสือบุญทอง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตรัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจว่า"ว่า การเปิดใช้อาคารที่พักผู้โดยสารล่าช้าไปย่อมส่งผลกระทบต่อการเดินทางและการเข้าไปใช้บริการของผู้โดยสารในอาคารหลังใหม่ที่มีความทันสมัยสะดวกสบาย ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมาตรังทั้งในประเทศและต่างชาติ หากเป็นใช้อาคารหลังใหม่ก็จะรองรับเที่ยวระหว่างประเทศได้แล้ว เพราะรันเวย์หรือทางวิ่งเครื่องบินตรังในปัจจุบันสามารถรองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง 737-800 และ แอร์บัส 320-200 บินขึ้นลงได้
ดังนั้นภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวก็อยากจะให้มีการเปิดใช้อาคารหลังใหม่และความยาวรันเวย์ใหม่ที่สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ ดังนั้นหากเลื่อนใช้อาคารหลังใหม่ออกไปอีก ผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ก็เสียโอกาสไปอีกเป็นปี เพราะก่อนหน้านี่มีข่าวจะส่งมอบปลายปีที่ผ่านมา
การเลื่อนส่งมอบอาคารออกไปก็ส่งผลกระทบทัวร์ต่างประเทศที่จะบินตรงมาตรัง เดือนมิถุนายนถึงกันยายน ก็ปิดสถานท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ไปเปิดฤดูการท่องเที่ยว 1 ตุลาคม 2567 ดังนั้นอยากให้กรมท่าอากาศยานกำชับผู้รับจ้างให้เปิดก่อนเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว เพราะเท่าที่ทราบ มีการขยายสัญญามาตลอด อยากให้งานเสร็จและใช้อาคารใหม่ได้จริงเพราะเชื่อว่าสายการบินระหว่างประเทศจะมาทำการบินนำนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวทะเลตรังอย่างแน่นอน