"ระนอง" เร่งแผนพัฒนากลุ่ม "ภาคใต้ฝั่งอันดามัน" สู่ฮับท่องเที่ยวทางทะเล

28 ก.พ. 2567 | 08:07 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 08:29 น.

จังหวัดระนอง จัดการประชุมเพื่อทำแผนแม่บท พัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และการขนส่งทางทะเล แบบครบวงจร และพัฒนาท่าเรือชุมชน

จังหวัดระนองจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับจังหวัดเพื่อจัดทำแผนแม่บทงานศึกษาเพื่อการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) แบบครบวงจร และพัฒนาท่าเรือชุมชน (ในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล)

โดยมี ว่าที่ร้อยตรีกิตติภพ รอดดอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนองเป็นประธานในพิธีร่วมกับ  นายนรินทร์ศักย์ สัทธาประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ( ด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ) หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนและผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุม ณ ห้องราชาวดี ชั้น 3 เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดระนอง

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวทางกรมเจ้าท่า ได้มีการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) แบบครบวงจร และพัฒนาท่าเรือชุมชน (ในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล)

ระนองเร่งแผนพัฒนา กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน สู่ฮับท่องเที่ยวทางทะเล

ทั้งนี้สืบเนื่องจากจากการประชุมสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการ ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นเพื่อทำการแนะนำโครงการ ความเป็นมาของโครงการ การเสนอแนวคิดในการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล

การเสนอแนวคิดในการจัดทำแผนการพัฒนาท่าเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช) และท่าเรือสำราญและกีฬา (มาริน่าชุมชน) การเสนอพื้นที่ทางเลือก จังหวัดละ 3 พื้นที่ การเสนอแนวคิดในการพัฒนาท่าเรือขนส่งชายฝั่ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในห้องประชุมสัมมนา และทาง online เป็นจำนวนมากถึง 180 ท่าน ซึ่งในที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นต่างๆ มากมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำโครงการ

โครงการการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 มีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงาน 540 วัน และจะสิ้นสุดสัญญา ในวันที่ 25  กุมภาพันธ์ 2568  ปัจจุบันดำเนินการผ่านมาแล้วประมาณ 170  วัน หรือประมาณร้อยละ40 ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำร่างแผนแม่บทการออกแบบเบื้องต้นของท่าเรือมาริน่าชุมชนทั้ง 6 จังหวัดและการศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาท่าเรือมาริน่าชุมชนทั้ง 6 จังหวัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับจังหวัด

ในการประชุมครั้งนี้ เป็นกระบวนที่สำคัญกระบวนการหนึ่ง โดยจะนำเสนอการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT analysis) และการวิเคราะห์หาจุดร่วม (SWOT Matrix) เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือสำราญ (เรือยอร์ซ) และท่าเรือสำราญและกีฬา (มาริน่าชุมชน) ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวนี้ ทางที่ปรึกษาจะนำเสนอ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการพิจารณา แก้ไข เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความถูกต้องก่อนนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทในลำดับต่อไป คือ การนำเสนอการคัดเลือกพื้นที่ ให้เหลือจังหวัดละ 1 พื้นที่ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอน การออกแบบเบื้องต้นต่อไป

...