นายกิตติชัย สัจจลักษณ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ เปิดเผย “ ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าโครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ว่า การก่อสร้างมีความคืบหน้ามาก โดยการก่อสร้างขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 และปรับปรุงที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1,2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ท่าอากาศยานกระบี่ วงเงินก่อสร้าง 2,923 ล้านบาท
ถ้าโครงการแล้วเสร็จอาคารที่พักผู้โดยสารสามารถรองรับได้ 8 ล้านคนต่อปี หรือ 3,000 คนต่อ 1 ชั่วโมง จากเดิมรองรับผู้โดยสารได้ 4 ล้าน คนต่อปี หรือชั่วโมงละ 1,500 คนต่อชั่วโมง โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไป 95.36%
นายกิตติชัย กล่าวว่า ในส่วนของการขยายแท็กซี่เวย์และทางขับขนาน โครงการก่อสร้างทางกลับขนานและระบบไฟฟ้าสนามบิน มูลค่างาน 941ล้านบาท เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถรองรับเที่ยวบินจำนวน 24 เที่ยวบินต่อ 1 ชั่วโมง จากเดิม 8 เที่ยวบินต่อ1ชั่วโมง ความก้าวหน้าของโครงการจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีความคืบหน้าไป 65.30%
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานกระบี่ มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,620 ไร่ มีทางวิ่งของอากาศยานเป็นผิวแอสฟัลท์ติกขนาด 45 × 3000 เมตร ลานจอดอากาศยานขนาด 1,625 × 135 เมตร ลานจอดอากาศยานสามารถรองรับเครื่องบินได้ 34 ลำเป็นเครื่องแบบโบอิ้ง 737 -800 และแบบแอร์บัส 320-200 อาคารจอดรถยนต์ได้จำนวน 2,664 คัน
ด้านนายสรรเพ็ชญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สนามบินอันดามันที่รัฐบาลมีโครงการจะก่อสร้างในพื้นที่ตำบลโคกกลอย อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา จะต้องลงทุน 1 แสนล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 7 ปี และต้องทำเรื่อง EIA ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จะเสียโอกาสและเสียเวลารอให้สนามบินเสร็จอีก 7 ปี จึงจะได้เม็ดเงินจากท่าอากาศยานและเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า จะไม่สร้าง “สนามบินอันดามัน”หรือ ภูเก็ต 2 ดังนั้นสนามบินอันดามัน ที่พังงา ยังต้องสร้างอยู่ แต่ในระยะ 7 ปีนี้ รัฐบาลน่าจะใช้สนามบินนานาชาติกระบี่ที่ความพร้อมอยู่แล้ว มาแบ่งเบาภาระสนามบินภูเก็ตไปก่อน
ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ขอนำเสนอไปยัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สนับสนุนใช้สนามบินกระบี่ ที่มีความพร้อมอยู่แล้วหลังปรับปรุงใหม่ ช่วงนี้ยังมีสล็อตที่ว่างให้สายการบินทั่วโลกบินมาลงท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร่งด่วนในระยะสั้น และเพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศ ด้วยการท่องเที่ยวแบบ Quick Win และกระจายนักท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามัน (ภายในระยะเวลา 6 เดือน -1 ปี)
“หากมองวันนี้ด้วยสถานะปัจจุบันของสนามภูเก็ตมีความแออัด จึงได้เสนอทางออกให้สนามบินกระบี่ได้ช่วยลดแรงเสียดทานและความหนาแน่นของสนามบินภูเก็ตได้โดยทันที และอาสาที่จะเป็นตัวกลางในการกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ทุกจังหวัดในกลุ่มอันดามัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ”
นายสรรเพ็ชญ กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้อยากจะให้นายกรัฐมนตรีที่จะไปประชุม “เวิลด์รูท” ซึ่งมีการประชุมสายการบินทั่วโลก ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เชิญชวนทุกสายการบินมาลงที่สนามบินกระบี่ และขอให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย กรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือน ลดค่าธรรมเนียมในการแลนดิ้งเพื่อดึงดูดให้สายการบินเหล่านี้มาทำการบินที่กระบี่ และอีกหลายเมืองของประเทศไทย
หากทำได้เช่นนี้เชื่อว่าเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวปีละ 3 ล้านล้านบาท กระบี่สามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาทแน่นอน