การบินไทยแจง 6 ประเด็นจัดหาเครื่องบินใหม่ 80 ลำ ยันไม่มีค่าคอมมิชชั่น

02 เม.ย. 2567 | 06:35 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2567 | 08:21 น.

การบินไทย ชี้แจง 6 ประเด็นกรณีการจัดหาเครื่องบินใหม่ 80 ลำ ยันเป็นการซื้อตรงกับบริษัทผู้ผลิต ไม่ผ่านเอเย่นต์ ไม่มีค่าคอมมิชชั่น

ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องบินแบบโบอิ้ง B737 Max โดยมีการเชื่อมโยงการจัดหาฝูงบินระยะยาวของการบินไทย ซึ่งได้ทำความตกลงกับบริษัท โบอิ้ง และบริษัท จีอี แอโรสเปซ จัดหาเครื่องบินแบบโบอิ้ง B787 พร้อมเครื่องยนต์ จำนวน 80 ลำ ระบุว่ามีการจ่ายค่านายหน้า (Commission) จากบริษัทผู้ผลิต และตั้งข้อสังเกตว่าค่านายหน้าดังกล่าวมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจของบริษัทฯหรือไม่นั้น

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอยืนยันถึงความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทุกกระบวนการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์มิเพียงยกระดับความสามารถในฐานะองค์กรเอกชนที่สามารถปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมการการบินระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานในทุกมิติโดยมีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บริษัทฯ พ้นจากสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา และขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

1. การบินไทยพิจารณาคัดเลือกแบบเครื่องยนต์และเครื่องบินจากประโยชน์สูงสุดที่บริษัทฯ จะได้รับ อาทิ ต้นทุนเครื่องบิน การปฏิบัติการบิน และการซ่อมบำรุง มาตรฐานด้านความปลอดภัย อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งมอบประสบการณ์การเดินทางผู้โดยสารด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

2. การบินไทยดำเนินการด้วยกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในอุตสาหกรรม เป็นกระบวนการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายโดยสายการบินชั้นนำ ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและซื่อตรงไม่ด้อยไปกว่าปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกในข้อ 1) และดำเนินการโดยตรงกับผู้ผลิตเครื่องยนต์และเครื่องบินโดยไม่ผ่านตัวแทน ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำจากกลุ่มบุคคลใด และยืนยันว่าไม่มีบุคลากรของบริษัทฯ คนใดได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ จากผู้ผลิตที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้แต่อย่างใด

 

3.บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์ที่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอเป็นบริษัทฯ ชั้นนำในอุตสาหกรรม มีประมวลจริยธรรม (Code of Conduct) กำกับดูแลการดำเนินธุรกิจที่มีมาตรฐานระดับสูง อีกทั้งยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่ตั้งทางธุรกิจอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านการป้องกันการทุจริต

4.ปัจจุบันการบินไทย ไม่มีเครื่องบินแบบโบอิ้ง B737 Max ประจำการอยู่ในฝูงบินและในแผนจัดหาฝูงบินระยะยาวของบริษัทฯ

5.บริษัท โบอิ้ง มีการแบ่งแยกความรับผิดชอบทางเทคนิคของเครื่องบินแต่ละแบบออกจากกันอย่างชัดเจน ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินแบบโบอิ้ง B737 Max จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องบินแบบอื่นๆ ของบริษัท  โบอิ้ง แต่อย่างใด

6. กรณีปัญหาเครื่องบินแบบโบอิ้ง B787 ของการบินไทย ในอดีตเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุจากปัญหาทางเทคนิคของเครื่องยนต์ที่ใช้ในขณะนั้น ไม่ได้เกิดจากเครื่องบินแต่อย่างใด ซึ่งบริษัทฯ ได้นำบทเรียนจากกรณีนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกแบบเครื่องบินและเครื่องยนต์ในครั้งนี้

บริษัทฯ ขอความร่วมมือใช้วิจารณญาณและดุลยพินิจด้วยความระมัดระวังและอย่างรอบคอบในการรับข้อมูลที่มีลักษณะการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย รวมถึงไม่แชร์ข้อมูลที่มีลักษณะดังกล่าว และงดแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง