นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดหนังสือไทยกำลังเติบโตต่อเนื่อง จากการสำรวจในปีที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าราว 1.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท และในปีถัดไปก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก
โดยมีแรงกระตุ้นจากการจัดงานหนังสือแห่งชาติที่นำหนังสือเล่มออกมาขายอย่างคับคั่ง แต่ละบูธของสำนักพิมพ์มีหนังสือใหม่เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10 ปก และตลาดออนไลน์ก็กำลังเติบโตคู่ขนานกันไป หากรวมมูลค่าทั้งหมดแล้วน่าจะทำให้ตลาดหนังสือมีมูลค่าแตะ 2 หมื่นล้านบาท โดยเด็กวัยรุ่น เจนเนอเรชันใหม่ค่อนข้างสนใจอ่านหนังสือเล่มและหันมาหยิบจับผลงานกระดาษ ส่วนวัยผู้ใหญ่จะเริ่มอ่านหนังสือผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวกต่อการขยายตัวอักษรผ่านหน้าจอตามสภาพของสายตา
ปัจจุบันหนังสือนวนิยายและวรรณกรรมถือว่าเติบโตสูงที่สุดในบรรดาหนังสือทุกประเภท มีสัดส่วน 38% แบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่ และที่รับความนิยมสูงสุดจะเป็นหนังสือวาย ได้รับความนิยมสูงสุด 21% เทียบเท่ากับมังงะและไลต์โนเวลที่วัยรุ่นนิยมอ่าน ส่วนหนังสือประเภทเสริมทักษะสัดส่วน (How to) 18% หนังสือเด็กและคู่มือการเรียน 13% และหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ 10% ทุกหมวดหมู่ถือว่าเป็นไปตามเทรนด์ทำให้ตลาดเติบโตขึ้นอย่างแท้จริง และสามารถยืนยันได้ว่าหนังสือไม่มีวันตาย
“ในภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยถือว่าเป็นเบอร์ 1 ของตลาดหนังสือที่ใหญ่ที่สุด โดยมีจุดแข็งคือ 1. มีสำนักพิมพ์ที่หลากหลาย ปรับตัวไปตามยุคสมัย ตอบสนองต่อความนิยมของนักอ่านได้ 2. มีลูกค้าที่อ่านหนังสืออย่างเหนียวแน่นและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ในอนาคต PUBAT ตั้งเป้าไว้อยากให้ประเทศไทยเป็นฮับของตลาดหนังสือในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งปัจจุบันประเทศที่มีตลาดหนังสือที่ใหญ่ที่สุดยังคงเป็นไต้หวัน สังเกตได้จากการซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ลูกค้าหลักของประเทศไทยก็คือไต้หวัน”
นอกจากนี้หลังจากที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จัดงาน Bangkok Rights Fair 2024 เปิดให้มีการจับคู่ธุรกิจเจรจาซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์หนังสือและคอนเทนต์นานาชาติ ระหว่างสำนักพิมพ์ไทยและตัวแทนจำหน่ายจากต่างประเทศ ในรูปแบบ Business to Business เพื่อนำไปแปลและจัดพิมพ์เป็นหนังสือภาษาต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงผลิตในรูปแบบของซีรีส์ ภาพยนตร์ ฯลฯ นั้นพบว่า เบื้องต้นเกิดการเจรจาทางการค้าทั้งสิ้น 500 คู่ โดยประเมินยอดซื้อขายลิขสิทธิ์ในเบื้องต้นประมาณ 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 49 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่ามูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นจริงจะสูงกว่านี้ โดยตั้งเป้าหมายที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 351 ล้านบาท
ทั้งนี้ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของคนไทย พบว่า มีการอ่านหนังสือเฉลี่ย 113 นาทีต่อวัน หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน โดยคนไทยนิยมอ่านหนังสือรูปเล่มในสัดส่วน 50% และอีบุ๊ค 47% แต่เมื่อแยกเป็นรายกลุ่ม พบว่า กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปเลือกอ่านหนังสือผ่านอีบุ๊ค 58% เนื่องจากสามารถขยายตัวหนังสือได้ รวมทั้งมีความสบายตาในขณะอ่านและ 38% เป็นการอ่านในรูปเล่ม ในขณะที่อายุ 12-19 ปีเลือกอ่านหนังสือรูปเล่มและอีบุ๊ค ในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ 47% และ 48%
นายสุวิช กล่าวว่า สำหรับการจัดงานในปีนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10% มีเงินสะพัดมากกว่า 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับงานปีก่อน สวนทางกับเศรษฐกิจที่ชะลอลง สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมการอ่านของคนไทยได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น