นักวิชาการ ชี้ เครื่องบินตกหลุมอากาศรุนแรงขึ้น 40% จากภาวะโลกเดือด

22 พ.ค. 2567 | 08:10 น.

นักวิชาการ ชี้ ในปี 2050 มีโอกาสที่จะทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงมากขึ้นถึง 40% จาก "ภาวะโลกเดือด" แม้ในขณะที่บินผ่านในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งก็ตาม

จากกรณีเครื่องบินสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 ลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิเนื่องจากตกหลุมอากาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ล่าสุดนักวิชาการ เปิดเผยว่า จากภาวะโลกเดือดที่เกิดขึ้นมีโอกาสที่จะทำให้เครื่องบินจะตกหลุมอากาศถี่ขึ้นถึง 40% ในปี 2050 แม้ท้องฟ้าปลอดโปร่งก็ตาม 

โดย ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ระบุข้อความว่า

เครื่องบินอาจตกหลุมอากาศบ่อยขึ้นแม้บินอยู่ในท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง..สัมพันธ์กับการที่โลกเข้าสูภาวะ"โลกเดือด"

 

1.โลกร้อนทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงขึ้น 1.2 ถึง 1.4 องศา จากยุคก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรม ยิ่งระดับความสูงจากผิวโลกขึ้นไปเกือบ 20 กม. อุณหภูมิบรรยากาศยิ่งร้อนขึ้นจึงไปทำให้ลมระดับบนที่ระยะความสูงระหว่าง 7.0 ถึง16 กมจากผิวโลก ที่เรียกว่าลมกรด หรือ Jet stream ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย 200 ถึง 400 กม.ต่อชม.และเคลื่อนที่จากซีกโลกตะวันตกไปยังตะวันออกมีความเร็วลดลงในบางช่วงบางขณะซึ่งจะทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศบริเวณนั้นลดลงด้วย

ทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศทั้งที่อากาศช่วงนั้นปลอดโปร่งไม่มีพายุ หรือ เมฆฝนใด ๆ เรียกว่า Clear Air Turbulance หรือ CAT หากมีเครื่องบินบินผ่านแรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกระทันหันและเครื่องจะตกลงไปในมวลอากาศที่บางลงซึ่งเรียกว่า การตกหลุมอากาศ (pole pocket)

2.โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิในบรรยากาศโลกสูงขึ้นอาจทำให้เกิดภาวะเครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่เครื่องบินบินอยู่ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งได้ซึ่งเรื่องนี้เกิดบ่อยขึ้น

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาค้นพบว่า ตั้งแต่ปี1979 ถึง ปี 2020 มีเครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านั้นถึงร้อยละ 55 และมีความสัมพันธ์โดย ตรงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นโลกสู่บรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ

...หากไม่ดำเนินการใด ๆ ในปี 2050 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นถึง1.5 องศาเซลเซียสซึ่งเรียกว่า "สภาวะโลกเดือด" อาจจะทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงมากขึ้นถึง 40% แม้ขณะที่บินผ่านในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งก็ตาม