เจาะลึกเทรนด์ท่องเที่ยว LGBTQ+ หลังโควิด ชิงกำลังซื้อสีรุ้ง 169 ล้านล้าน

01 มิ.ย. 2567 | 04:09 น.

เจาะลึกเทรนด์ท่องเที่ยว LGBTQ+ หลังโควิด ชิงกำลังซื้อสีรุ้ง 169 ล้านล้านบาท ตีฆ้อง Bangkok Pride Festival 2024 ผลักดันไทยเจ้าภาพ InterPride World Conference 2025 และ Bangkok WorldPride 2030

LGBTQ+ เป็นกลุ่มศักยภาพเป้าหมายและมูลค่าทางการตลาดสูง ดังนั้นในช่วง Pride Month เดือนมิถุนายนนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศ  ททท.จึงผนึกภาคเอกชน จัดอีเว้นท์ใหญ่ใน 5 ภูมิภาคของไทย กระตุ้นท่องเที่ยวและส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทย

โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 8.6 แสนคน สร้างรายได้ไม่ตํ่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท และผลักดันไทยเจ้าภาพ InterPride World Conference 2025 และ Bangkok WorldPride 2030

ไฮไลท์การจัดงานไพรด์ของไทยในปีนี้ คือ “บางกอกไพรด์ 2024Bangkok Pride Festival 2024 มาในธีม Celebration Of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม ซึ่งจัดใหญ่ในรูปแบบ “เฟสติวัล” ที่กำลังเกิดขึ้น  

Bangkok Pride Festival 2024

รวมถึงททท.ยังได้จัดแคมเปญ “Go Thai Be Free” ในตลาดต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Top LGBTQ+ Friendly Destination และ Tourism Hub จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกอย่างเท่าเทียม

 

เราจะมาเจาะลึกภาพรวม ตลาดสีรุ้ง หลังโควิดที่เกิดขึ้น

มูลค่าเศรษฐกิจสีรุ้ง ก่อนโควิด-19 ในปี 2562 กลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศหรือชาวสีรุ้งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงจากข้อมูลของ LGBT Capital ระบุว่าก่อนโควิด-19 มีกำลังซื้อต่อปีสูงถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 135 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป็น 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 169 ล้านล้านบาท ในปี 2566 จากชาว LGBTQ+ ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีทั่วโลก จำนวน 388 ล้านคน

โดยจากสถิติล่าสุด (ปี 2566) พบว่า ประเทศที่มีกำลังซื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 จีน 872 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 3 ญี่ปุ่น 229 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 4 เยอรมนี 224 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 5 อินเดีย 168 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนกำลังซื้อของกลุ่ม LGBTQ+ ในไทย เพิ่มจาก 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (8.64 แสนล้านบาท) ในปีก่อนโควิด เพิ่มมาเป็น 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (9.36 แสนล้านบาท) ในปี 2566 จากชาว LGBTQ+ ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี อยู่ที่ 3.7 ล้านคน

แม้กำลังซื้อของกลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลกในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปี 2562 แต่กลับพบว่า การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของ LGBTQ+ กลับลดลงอันเป็นผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้มูลค่าตลาดการท่องเที่ยว ของแต่ละประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเกิดโควิด ซึ่งก็สอดคล้องกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกในภาพรวมที่ลดลงจากโควิด-19 และปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามแม้การเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มตลาดสีรุ้ง จะเป็นในลักษณะการฟื้นตัว แต่มูลค่าตลาดท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBTQ+ ปีล่าสุด (ปี 2566) อันดับ 1 ก็ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าตลาดท่องเที่ยวอยู่ที่ 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากก่อนโควิดอยู่ที่ 25.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนประเทศไทย มีมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวของ LGBTQ+อยู่ที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.4 หมื่นล้านบาท) จากก่อนโควิดอยู่ที่ 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.34 แสนล้านบาท)

ดังนั้นในช่วง Pride Month 2024 หลายประเทศก็กลับมาจัดงานเฉลิมฉลองเดือนไพรด์อย่างคึกคัก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงประเทศไทย ปัจจุบันพบว่า กว่า 60% ของจำนวนนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ให้ความสำคัญกับจุดหมายปลายทางที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองให้แก่ชาว LGTBQ+ เพื่อหวังดึงกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง เดินทางบ่อยเฉลี่ยปีละ 3-4 ครั้ง และมีระยะเวลาพำนักยาวนานกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป

โดยจากผลสำรวจของ psos LGBT+ Pride 2023 บนแพลตฟอร์มออนไลน์ Global Advisor พบว่า กลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มการเพิ่มจำนวนของประชากร LGBTQ+ มากกว่ากลุ่ม Millennial ถึง 2 เท่า และมากกว่า Gen X และ Baby Boomers ถึง 4 เท่า กลุ่ม LGTBQ+ จึงจัดว่าเป็นกลุ่ม Niche Market ที่ทรงพลัง และกำลังได้รับความสนใจจากกระแสสังคมและกลุ่ม ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งมีกระแสเทรนด์การท่องเที่ยวในระดับโลกนั่นเอง