ทายาทเจ้าสัวเจริญ ติดปีก "ฟีนิกซ์" โปรเจ็กต์หมื่นล้าน ฟู้ดเดสติเนชั่นโลก

25 มิ.ย. 2567 | 19:07 น.

ทายาทเจ้าสัวเจริญ เปิดใจติดปีก‘ฟีนิกซ์’โปรเจ็กต์หมื่นล้าน พลิกโฉมพันธุ์ทิพย์ ประตูนํ้า สู่ฟู้ดเดสติเนชั่นระดับโลก รวมอาหารเด็ดทั่วโลก ร้านอาหารมิชลิน สตรีทฟู้ด คาเฟ่ 265 ร้าน พร้อมรวมศูนย์ค้าส่งด้านอาหาร เชื่อมการขายผ่านออนไลน์-ออฟไลน์ บริการแล้ววันที่ 26 มิ.ย.นี้

จากพันธุ์ทิพย์ ประตูนํ้า ห้างไอทีในตำนาน ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2527 ปัจจุบันได้กลายเป็น โครงการ Phenix หรือ ฟีนิกซ์ ไปแล้ว ซึ่ง AWC ปักธงให้เป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก สร้างเป็น เวิลด์ ฟู้ด โฮเซลล์ ฮับ และ ฟู้ดเลาจน์ใหญ่สุดในไทย รวมอาหารเด็ดทั่วโลก ร้านอาหารมิชลิน สตรีทฟู้ด คาเฟ่ 265 ร้าน พร้อมรวมศูนย์ค้าส่งด้านอาหาร เชื่อมการขายผ่านออนไลน์-ออฟไลน์ ที่เปิดให้บริการแล้วในวันที่ 26 มิ.ย.นี้

Phenix ประตูน้ำ

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC ได้ชวน “ฐานเศรษฐกิจ” ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ ถึงแรงบันดาลใจในการสร้าง Phenix มูลค่าโปรเจ็กต์กว่า 1 หมื่นล้านบาท ว่า เดิมในช่วงที่ผ่านมา เรามีแผนจะพัฒนาพื้นที่พันธุ์ทิพย์ ประตูนํ้าเดิม มาหลายโมเดล จนมาในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา คิดจะรีแบรนด์มาเป็น AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM ให้เป็นศูนย์ค้าส่งอาหารระดับโลก กับแพลตฟอร์มการค้าส่งอาหารครบวงจรเชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์ครั้งแรกของโลก ผ่าน PhenixBox แต่ที่ผ่านมาคนก็จะไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เราการจะสื่อสารออกไป

ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนคอนเซ็ปต์อีกครั้ง โดยเรามองว่าต้องการทำที่นี่ให้เป็นเดสติเนชั่นด้านอาหารระดับโลก จึงได้เพิ่มเติมโมเดลด้านไลฟ์สไตล์อาหาร รวมอาหารดังจากทั่วโลก ร้านอาหารระดับตั้งแต่มิชลินฟู้ด ไปจนถึงสตรีทฟู้ดระดับตำนาน ร้านอาหารและ คาเฟ่ชื่อดังกว่า 265 ร้าน เข้ามารวมอยู่ในพื้นที่นี้ จากเดิมที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นศูนย์กลางค้าส่งอาหาร ซึ่งเป็นโฮเซลล์ 100% เท่านั้น เพื่อทำให้ย่านประตูนํ้า เป็น เวิลด์ ฟู้ด โฮเซลล์ ฮับ และ ฟู้ดเลาจน์ ใหญ่สุดในไทย เป็นเดสติเนชั่นด้านอาหารและไลฟ์สไตล์ระดับโลก

วัลลภา ไตรโสรัส

 

เราได้ คุณตั้ว-ภูษิต ศศิธรานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคโลญเมสเซ่ ประเทศไทย (บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด) ผู้จัดงานแสดงสินค้าระดับโลกอย่าง THAIFEX- ANUGA Asia งานใหญ่ระดับเอเชีย เข้ามาช่วยโครงการนี้ ทำให้เกิดความลงตัว

เพราะนอกจากโมเดลธุรกิจค้าส่งอาหาร ตั้งแต่แรกที่เราตั้งใจไว้ ก็มาเสริมโมเดลธุรกิจด้วยเอ็กซิบิชั่น  ซึ่งเป็นจุดคิ๊กสตาร์ของการขยายเน็ตเวิร์ค ที่โมเดลฟีนิกซ์จะเชื่อมต่อกับ THAIFEX-ANUGA Asia เพราะเอ็กซิบิชั่นพอพาพาร์ทเนอร์ชิพมาเจอกัน ก็จะได้มีเดสติเนชั่นที่ให้เขาสานต่อธุรกิจ และเป็นจุดเชื่อมว่าพรีและโพสต์ของงานโชว์ที่เป็นเอ็กซิบิชั่น ขนาดใหญ่ ก็จะได้มีเดสติเนชั่น เลยเกิดเป็นโมเดลพาร์ทเนอร์ชิพที่นี่

ทายาทเจ้าสัวเจริญ ติดปีก \"ฟีนิกซ์\" โปรเจ็กต์หมื่นล้าน ฟู้ดเดสติเนชั่นโลก

รวมถึงยังจะมีการจัดงานอีเวนท์ ต่างๆ ที่มีระยะเวลาแน่นอน ซึ่งคุณตั้วยังได้ชวนสมาคมเชฟเข้ามาร่วมจัด งานเวิล์ดเชฟแชมเปี้ยนชิพ เริ่มจากเวิลด์จูเนียร์ เชฟ แชมเปี้ยนชิพ เป็นรุ่นแรก จะมาจัดที่นี่ รวมไม่ตํ่ากว่า 15 ประเทศทั่วโลกมาร่วมแข่งขันที่นี่  ต่อไปที่นี่ไม่เพียงเป็นศูนย์รวมสุดยอดความอร่อย ที่เราเติมเรื่องเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์อาหารเข้ามา แต่ที่นี่จะเป็นศูนย์รวมในการสร้างบุคคลากรสำคัญของวงการอาหารอยู่ที่ประเทศไทย

ต่อเนื่องระยะยาวด้วยการจัดตั้งฟีนิกซ์ อะคาเดมี่ มาแข่งขันเสร็จ สร้างเน็ตเวิร์คแล้ว อยู่ในฟินิกซ์ แอพฯ แล้วมาเทรนเอาใบรับรองได้เลยว่าจบขั้นไหนขั้นไหน เพื่อให้ไปทำงานได้ เช่น ทำงานในโฮเทล เชน ซึ่งตอนนี้เน็ตเวิร์คโรงแรม ร้านอาหาร ทุกอย่างเกี่ยวกับฟู้ดมีการลงทะเบียนอยู่ในฟีนิกซ์แอพฯ เราก็จะได้ดูแลคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเอฟแอนด์บี และมาที่นี่ ไม่ได้มีแค่อาหารอร่อย แต่มีในเรื่องของแพลนต์เบส ฟิวเจอร์ฟู้ด ฟู้ดซีเคียวริตี้ด้วย  ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทุกอย่างที่เกี่ยวกับฟู้ดเซ็กเตอร์  และทำให้ที่นี่มีความ WOW เรื่องอาหารของกรุงเทพฯ สร้างเดสติเนชันให้ตอบโจทย์ทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้า และเสริมธุรกิจให้กับประเทศ ทำให้เป็นฟู้ดเดสติเนชั่นระดับโลก

การให้บริการของ ฟีนิกซ์

เมื่อได้คอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนก็มีการ รีแบรนด์ชื่อใหม่มาเป็น “ฟีนิกซ์” (Phenix) ซึ่งชื่อนี้มาจากแอปพลิเคชั่น PhenixBox ซึ่งมาจาก คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ (รองประธานกรรมการ AWC) ซึ่งคุณตั๊วมองว่ายาวไป เลยตัดเหลือ Phenix ที่ก็หมายถึง สิริมงคล สื่อถึงความรุ่งเรือง ไม่มีวันดับสูญ เหมือนกับนกฟีนิกซ์ พอได้ชื่อก็ใช้เวลาออกแบบโลโก้เพียง 2 วัน การเร่งก่อสร้างทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ทันเปิดให้บริการ 

ฟีนิกซ์ ฟู้ดเดสติเนชั่นระดับโลก การตกแต่งก็จะว๊าวตั้งแต่หน้าทางเข้ากับจอขนาดยักษ์หน้าทางเข้าที่จะเป็นเทคโนโลยีอิมเมอร์ซีพ ที่จะมีนกฟีนิกซ์พาอาหารออกมาจากจอ ชวนอร่อย ที่จะเป็นจุดเช็คอินใหม่ในกรุงเทพ เฉพาะจอก็ลงไปกว่า 200 ล้านบาท เราแปลงโฉมใหม่ทั้งด้านหน้า และบรรยากาศข้างในตกแต่งใหม่ และที่ผ่านมาเราได้ผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานมากมายทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย เพื่อสร้างพันธมิตรเข้ามาร่วมในฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นกุญแจความสำเร็จ ร่วมกันสร้างเมืองไทยเป็นเดสติเนชันด้านอาหาร

สำหรับพื้นที่ของฟีนิกซ์จะมีทั้งหมด 6 ชั้น เฉพาะพื้นที่ค้าส่ง (Wholesale) กว่า 2 หมื่นตรม.เป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าผู้ค้าส่งอาหารชั้นนำทั้งของไทยและต่างประเทศจะมีทั้งหมดกว่า 800 ร้านค้า และพื้นที่ Share Shop อีกกว่า 2,400 ยูนิต โดยจะมีสินค้าอาหารใน 8 กลุ่ม รวมสินค้ามากกว่า 3 พันรายการ ได้แก่ อาหารแช่แข็ง อาหารแช่เย็นและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องปรุงและวัตถุดิบ ข้าวและธัญพืช เครื่องดื่ม กาแฟและชา ขนมขบเคี้ยวและขนมหวาน และนวัตกรรมอาหารและเทคโนโลยี ที่จะเกิดการซื้อ-ขายผ่านแพลตฟอร์มการค้าส่งอาหารครบวงจรเชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์ครั้งแรกของโลก ผ่าน Phenix แอพฯ

โดย AWC จะคิดเฉพาะค่าเช่าพื้นที่เท่านั้น ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการขาย และยังได้ร่วมกับสถานทูตและหอการค้าจากนานาประเทศสร้าง International Pavilion แสดงสินค้าของประเทศต่างๆ ซึ่งจะมีกว่า 10 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เบลเยียม จีน

ทายาทเจ้าสัวเจริญ ติดปีก \"ฟีนิกซ์\" โปรเจ็กต์หมื่นล้าน ฟู้ดเดสติเนชั่นโลก

ทายาทเจ้าสัวเจริญ ติดปีก \"ฟีนิกซ์\" โปรเจ็กต์หมื่นล้าน ฟู้ดเดสติเนชั่นโลก

ขณะเดียวกันในโซนไอทีบนชั้น 3 ที่ตอนเป็นห้างพันธุ์ทิพย์ หลายร้านก็ยังอยากอยู่กับเรา แสดงว่าเขามีฐานลูกค้าที่แน่นอน วันนี้พอเรามีเรื่องอาหาร เขาก็จะพัฒนาตัวเอง ทำเรื่องแอพซิสเต็มต่อเนื่องไปเลย และก็มีเพิ่มเติมเรื่องโซลูชัน ไลฟ์สตรีมมิงรองรับอินฟลูเอนเซอร์ด้านอาหารทั่วโลกมารีวิวอาหารที่นี่ รีวิวโปรดักซ์ รีวิวร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์เซฟมาเจอกันก็ได้ เป็นต้น

ส่วนพื้นที่อีกว่า 2 หมื่นตรม. ก็จะเป็นพื้นที่ฟู้ดเลาจญ์ที่ใหญ่ที่สุด รวมอาหารอร่อยตั้งแต่สตรีทฟู้ดถึงมิชลิน ที่รวมให้ได้มากที่สุดใหญ่ที่สุดด้วย ซึ่งจะมีที่นั่งหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ อาทิ Networking Zone มาพร้อมที่นั่งหลากหลายสำหรับนัดประชุมหรือสังสรรค์กับเพื่อนและคู่ค้า Chill Zone สำหรับนั่งทำงาน พร้อมปลั๊กสำหรับชาร์จไฟที่มีอย่างทั่วถึง Family Zone โซนครอบครัวที่รังสรรค์พื้นที่สนามเด็กเล่นให้คุณหนูได้เล่นสนุกและอิ่มอร่อยไปกับเมนูอร่อยสำหรับครอบครัว Dining & Entertainment Zone พื้นที่รับประทานอาหารและแฮงเอาท์ พร้อมดนตรีสด การแสดงโชว์ และสนุกไปกับจอถ่าย ทอดสดขนาดยักษ์

ทายาทเจ้าสัวเจริญ ติดปีก \"ฟีนิกซ์\" โปรเจ็กต์หมื่นล้าน ฟู้ดเดสติเนชั่นโลก

นักท่องเที่ยวมาซื้อของกินของฝากมาซื้อจากผู้ขายตรง และกินอร่อย ทั้งยังมีพื้นที่แกรนด์บอลรูม พื้นที่ 2,600 ตรม. ด้านบนเป็นบัลโคนี่ และพื้นที่ด้านล่างที่วางที่นั่งได้ 1,500 ที่นั่ง ใช้ระบบเสียงจากแจ็ค ซาวด์ ซิสเต็ม ที่เป็นระดับโลก เพื่อจัดคอนเสิร์ตระดับโลก ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตต่างประเทศที่เชื่อมโยงกับอาหารด้วย เริ่มด้วย Lisa Ono ราชินีบอสซาโนวา ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ Salena Jones เดือนส.ค. Laura Fygi เดือนก.ย. Soul After six เดือนพ.ย. และ Kenny G เดือนธ.ค.

โดยบัตรจะมีหลายราคา เช่น เราอาจจะจัด Chef Table สำหรับที่นั่งในชั้นฮันนีมูน ซีท ในโซนที่เป็นพื้นที่บัลโคนี่ ที่มีครัวอยู่ด้านบน และแจกเวาเชอร์สำหรับที่นั่งชั้นปกติให้มาใช้บริการทานอาหารในพื้นที่ฟู้ดเลาจน์ได้ด้วย

อีกทั้งพื้นที่แกรนด์บอลรูม ยังสามารถปรับพื้นที่มาจัดอีเวนท์ต่างๆ เช่น เทศกาลอาหารไทย เทศกาลอาหารฟิวเจอร์ฟู้ด วีแกน เป็นต้น เฉพาะกิจกรรมในช่วง 6 เดือนจากนี้ คาดว่าจะดึงคนเข้ามาที่ฟีนิกซ์ได้กว่า 1.5 แสนคน ไม่รวมอื่นๆ ที่เป็นจุดขายของโครงการนี้ ที่ AWC ตั้งเป้าดึงทราฟฟิก 20,000 คนต่อวัน

รวมถึงอีกหนึ่งไฮไลท์ คือ ชั้น 6 จะประดิษฐานพระพระพิฆเนศ 5 เศียรประทับสิงโต หนัก 30 ตัน สูง 4 เมตร ใช้เวลาแกะสลักนานถึง 8 ปี ซึ่งบวงสรวงแล้ว เพื่อมาประทานพร ซึ่งคนจะมาไหว้ขอเรื่องการค้า มั่งมีศรีสุข

ทายาทเจ้าสัวเจริญ ติดปีก \"ฟีนิกซ์\" โปรเจ็กต์หมื่นล้าน ฟู้ดเดสติเนชั่นโลก

นอกจากนี้ จะมี “ฟู้ด มิวเซียม” เล่าที่มาตำนานอาหารไทย ตั้งแต่การตั้งชุมชนเมือง อาหารชาวบ้าน อาหารชาววัง พัฒนาการในยุครุ่งเรือง จนถึงการส่งออกสู่ครัวโลก (Kitchen of The World) นำเสนอในรูปแบบอิมเมอร์ซีฟ อินโนเวชัน มิวเซียม บนพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร เป็นโซนที่มีค่าใช้จ่ายเข้าชมมิวเซียม

ทุกโซนเปิดให้บริการในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ยกเว้นโซนฟู้ด มิวเซียม ที่จะเปิดให้บริการปลายปี 2567 ซึ่งฟีนิกซ์ จะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ในการขับเคลื่อนไทยสู่ฟู้ดเดสติเนชั่นระดับโลก