เทียบฟอร์มท่องเที่ยวไทยในเวทีโลก ตกชั้นไปไกลแค่ไหน หลังโควิด

02 ก.ค. 2567 | 20:21 น.

ท่องเที่ยวไทยแม้จะทยอยฟื้นตัว แต่สถานะการท่องเที่ยวในเวทีท่องเที่ยวโลก เทียบกับปีก่อนเกิดโควิด-19 ยัง ตกลงไปจากก่อนโควิดมากพอสมควร จากก่อนโควิดเคยทำรายได้สูงสุด เป็นอันดับ 4 ของโลก ล่าสุดตกชั้นไปไกลแค่ไหน เช็คที่นี่

การท่องเที่ยวไทย ก่อนโควิด-19 ติดอันดับ 8 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวมากที่สุดในโลก และทำรายได้สูงสุด เป็นอันดับ 4 ของโลก แต่หลังโควิด สถานะของการท่องเที่ยวไทย ตกลงไปจากก่อนโควิดมากพอสมควร 

ล่าสุดองค์การการท่องเที่ยวโลก หรือ UNWTO ประกาศว่าในปี 2566 ประเทศฝรั่งเศส มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก และยังทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดอีกด้วย ตามมาด้วย สเปน สหรัฐอเมริกา ซึ่ง Top 3 ของโลกไม่แตกต่างจากช่วงก่อนเกิดโควิด ในปี 2562 

สถานะการท่องเที่ยวไทยในเวทีโลก

แต่มีจุดเปลี่ยนตั้งแต่อันดับ 4 ลงมา โดยจีน จากเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ถูกแซงโดยอิตาลี ส่วนไทยที่เคยอยู่ในอันดับ 8 ก็ตกลงไปอยู่ที่ 11 ของโลก ขณะที่ประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด อันดับ 1-2 ของโลกยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา และสเปน ส่วนไทยตกจากอันดับ 4 มาอยู่ที่ อันดับ 16 ของโลก

จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศในฝั่งยุโรปและอเมริกา มีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เร็วกว่าประเทศต่างๆ ใน เอเชีย ทำให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว บางประเทศอย่าง ฝรั่งเศส และสเปน ก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เกินกว่าปีก่อนเกิดโควิดไปแล้วในปีที่ผ่านมา

ขณะที่เอเชียมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติช้ากว่า ทำให้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย จึงอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัว 

สำหรับประเทศไทย การท่องเที่ยวยังคงอยู่ระหว่างการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทย แม้จะอยู่ในอันดับ 11 โลก แต่ก็ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 22 ของโลกในปี 2565 

เทียบฟอร์มท่องเที่ยวไทยในเวทีโลก ตกชั้นไปไกลแค่ไหน หลังโควิด

เช่นเดียวกับรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ขยับจากอันดับที่ 19 ในปี 2565 มาเป็นอันดับที่ 16 ในปีที่ 2566 แต่ก็ยังถือว่ายังกลับมาไม่เท่ากับปีก่อนเกิดโควิด-19 แม้ว่าหลังโควิด ประเทศไทยยังคงมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ สูงสุดในเอเชียแปซิฟิกก็ตาม

ดังนั้นในปี 2567 นี้ รัฐบาลหวัง ว่าไทยจะไต่ระดับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาอยู่ที่ 36.7 ล้านคน แม้จะยังไม่เท่ากับปีก่อนเกิดโควิด ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 39.92 ล้านคนก็ตาม เนื่องจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาด หลักด้านการท่องเที่ยวของไทย ยังฟื้นกลับมาไม่เท่าเดิม

โดยแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในช่วงปี 2567 นี้ (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 20 พ.ค. 67) ไทยมีนักท่องเที่ยวราว 15 ล้านคนแล้ว หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ถือว่าฟื้นตัวกลับมาราว 88%

เมื่อวิเคราะห์การฟื้นตัวในกลุ่มนักท่องเที่ยว 20 อันดับแรก เทียบกับปีก่อนเกิดโควิด จะพบว่า มี 9 ตลาด ที่มีจำนวนสูงกว่าปี 2562 แล้ว ได้แก่ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมนี อินโดนีเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์

ขณะเดียวกันยังมีอีก 7 ตลาด ที่ฟื้นตัวสูงกว่า 80% ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เวียดนาม ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย และมี 4 ตลาดที่ ฟื้นตัวตํ่ากว่า 80% ได้แก่ จีน ลาว ญี่ปุ่น และกัมพูชา

นอกจากนี้ล่าสุดสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) ได้ประเมินอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว สำหรับหลายประเทศทั่วโลก (Travel & Tourism Competitiveness Report : TTCR) ซึ่งพบว่าในปี 2567 นี้จากการวิเคราะห์ผลการประเมินอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวของไทย ตกจากอันดับที่ 31 ในปี 2562 มาอยู่ในอันดับ 47 ของโลกในปีนี้

เทียบฟอร์มท่องเที่ยวไทยในเวทีโลก ตกชั้นไปไกลแค่ไหน หลังโควิด

จากการจัดอันดับรวมทั้งหมด 119 ประเทศ และจัดว่าไทยอยู่ในอันดับ 4 ของอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์ อยู่ในอันดับ 1 ของอาเซียน ตามมาด้วย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ผลการจัดอันดับดังกล่าวพบว่าแม้ไทยจะมีความโดดเด่นเรื่องความคุ้มค่า อินเตอร์เน็ต สนามบิน และทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม แต่ยังคงต้องปรับปรุงเรื่องความปลอดภัย และความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยวโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการท่องเที่ยว ความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานหมุนเวียน คุณภาพนํ้าและอากาศและการจัดการผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยมีจุดอ่อน เรื่อง  การกระจายรายได้ท่องเที่ยวสู่ชุมชน

สะท้อนได้ชัดเจนจากการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งสถิติในปี 2566 พบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ มากกว่า 2 ใน 3 เลือกท่องเที่ยว เมืองท่องเที่ยวหลัก ทำให้เกิดการกระจุกตัวใน จังหวัดใหญ่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ 21.70% ชลบุรี 8.97% ภูเก็ต 5.57 % สุราษฎร์ธานี 4.36 % เชียงใหม่ 4.30% สงขลา 4.17% พังงา 4.12% พระนครศรีอยุธยา 3.06% กระบี่ 3.95% และอุดรธานี 2.94%

นี่เองจึงทำให้รัฐบาลพยายามจะขับเคลื่อนเมืองน่าเที่ยว 55 จังหวัด โดยหวังกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรองเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการปลดล็อกข้อจำกัดในการเดินทาง เช่น การยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าเข้าไทย แต่ทั้งนี้ด้วยความที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด หลังจากประเทศต่างๆ บาดเจ็บจากโควิดมานานหลายปีโดยเฉพาะประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ประเทศต่างๆ จึงออกนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยวอย่างหนักในช่วงปี 2566-2567 นี้

ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ที่มีนโยบายปลอดวีซ่า หรือ วีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในหลายประเทศ ส่งผลให้ในปี 2566 มีนักเดินทางต่างชาติ 35.5 ล้านครั้ง คิดเป็น 36% ของปี 2562 ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ ออกนโยบาย Visit Korea ปี 2023-2024 การจัดคอนเสิร์ต K-Pop การจัด K-Tourism Roadshow การจัดงาน Korea Beauty Festival ส่งผลให้ในปี 2566 เกาหลีใต้มีนักเดินทางต่างชาติ 25  ล้านคน คิดเป็น 80 % ของปี 2562

ส่วนไต้หวัน เริ่มแคมเปญ Taiwan the Lucky Land ปี 2567 มีนักเดินทางต่างชาติ 6 ล้านคน คิดเป็น 50% ของปี 2562 ทั้งกำหนดเป้าหมายปี 2568 จำนวน 12 ล้านคน เวียดนาม เปิดตัวแคมเปญ Viet Nam-Timeless Charm (เวียดนาม เสน่ห์เหนือกาลเวลา) ปี 67 กำหนดเป้าหมาย นักเดินทางต่างชาติ 18 ล้านคน

ดังนั้นการท่องเที่ยวของไทย หลังโควิดจึงต้องทำงานมากกว่าเดิม จากการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ภายใต้นโยบาย IGNITE THAILAND’S TOURISM ซึ่งกระทรวงท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ การผลักดันให้ท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้อง บูรณาการทำงานร่วมกัน ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

  1. การอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี
  2.  การสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านเอกลักษณ์ไทย (5 Must Do in Thailand)
  3. การพัฒนาทุกเมืองให้เป็นเมืองท่องเที่ยว
  4. ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
  5.  ส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางแห่งอีเวนต์ระดับโลก (World Class Event Hub)

การท่องเที่ยวหลังโควิดจึงถือว่า เป็นความท้าท้าย เพราะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ทุกประเทศก็ต่างงัดนโยบายในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นกัน