6 สายการบินของไทยจัดทัพฝูงบินใหม่ ขยายเครื่องบินรวม 403 ลำ

25 ส.ค. 2567 | 03:20 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2567 | 03:21 น.

6 สายการบินของไทย จัดทัพฝูงบินใหม่ ขยายเครื่องบินรวม 403 ลำ รองรับดีมานต์การเดินทางที่ฟื้นตัว และเติบโตต่อเนื่อง

ปัจจุบันธุรกิจสายการบินของไทยต่างทยอยกลับมาฟื้นตัวแล้วกว่า 80 % เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 และยังคงมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ 6 สายการบินต่างๆของไทย อยู่ระหว่างการจัดทัพฝูงบินใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของดีมานต์การเดินทางที่ฟื้นกลับมาอีกครั้ง

การบินไทยขยายฝูงบิน 143 ลำ

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่าปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 77 ลำ ในไตรมาส 4 ปีนี้จะเข้ามาอีก 2 ลำ ในปีหน้า จะเข้ามาอีก 13 ลำ รวมเป็น 90 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง 70 % และลำตัวแคบ 30 % และในอีก 10 ปีข้างหน้า การบินไทยจะมีการขยายฝูงบินรวมเป็น 143 ลำ ซึ่งจะเป็นเครื่องบินลำตัวแคบราว 50 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 90 ลำ

กรกฎ ชาตะสิงห์

โดยการบินไทยจะนำเครื่องบินลำตัวแคบ มาเสริมเส้นทางบินระยะสั้น เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้ โดยเฉพาะในเอเชีย แปซิฟิก ที่จะเป็นส่วนเสริมเครื่องบินลำตัวกว้าง ที่จะนำมาให้บริการในเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก และเส้นทางบินระยะไกล อย่างยุโรป

การขยายฝูงบินจะทำให้การบินไทยสามารถนำมาใช้เพิ่มความถี่ในเส้นทางบินที่มีศักยภาพ และการเปิดเส้นทางบินอย่าง บรัสเซล ที่จะเปิดบินในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ โดยปัจจุบันการบินไทย เปิดทำการบินอยู่ 806 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวม 61 เดสติเนชั่น การมีเครื่องบินเพิ่มขึ้น จะทำให้การบินไทยขยายความถี่ของเที่ยวบินเพิ่มอีก 113% หรือขยับเป็น 1,715 เที่ยวบินในปี 2571

การบินไทย

โดยภูมิภาคเอเชียแปซิปฟิกจะเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงมากในอนาคต การบินไทยต้องบริหารจัดการฝูงบินให้ยืดหยุ่น เพื่อให้สอดรับกับดีมานต์ตลาด ซึ่งคาดว่าในปี 2586 จะมีสัดส่วนการเติบโตของตลาดเอเชียแปซิฟิก จะเพิ่มสูงถึง 46 % จากในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 34.1%

บางกอกแอร์เวย์ส เพิ่มฝูงบินรวม 30 ลำใน 3-5 ปีนี้

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส เปิดเผยถึงแผนการบริหารจัดการฝูงบินในอนาคต ว่าปัจจุบัน บางกอกแอร์เวย์ส  มีเครื่องบินทั้งหมด 24 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 3 ลำ แอร์บัส A319 จำนวน 11 ลำ และ ATR 72-600 จำนวน 10 ลำ

โดยในปี 2567 Bangkok Airways จะเพิ่มเครื่องบิน Airbus A319 อีก 2 ลำ และปลดประจำการ A320 ออก 1 ลำ ส่งผลให้ฝูงบินทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ลำภายในสิ้นปีนี้ โดยคาดการณ์ว่า ฝูงบินของสายการบินจะเพิ่มเป็นประมาณ 30 ลำในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้านี้

6 สายการบินของไทยจัดทัพฝูงบินใหม่ ขยายเครื่องบินรวม 403 ลำ

ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต สายการบิน มีแผนจะออกใบเสนอเชิญชวนให้ผู้ผลิตเครื่องบินมานำเสนอราคาเพื่อจัดหาเครื่องบินใหม่ในปีนี้ คาดว่าจะจัดหาเครื่องบินประมาณ 20 ลำ เพื่อนำมาแทนที่เครื่องบินเดิมที่มีอยู่ โดยเน้นการใช้เครื่องบินที่สามารถทำการบินไปยังเกาะสมุยได้ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของสายการบิน

การปรับปรุงและเพิ่มจำนวนเครื่องบินครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาดการบิน ซึ่งจะช่วยให้สายการบินสามารถให้บริการได้ดียิ่งขึ้นและรองรับความต้องการของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ไทยไลอ้อน แอร์ มีรวม 30 ลำในปี 68

ด้านนายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่า เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ไทยไลอ้อนแอร์มีฝูงบินรวม 35 ลำ และจำเป็นต้องลดขนาดธุรกิจ (ดาวน์ไซส์) ในช่วงการระบาดใหญ่ ปัจจุบันสามารถฟื้นฝูงบินกลับมาที่ 20 ลำแล้ว แบ่งเป็น โบอิ้ง 737-800 จำนวน 16 ลำ และ โบอิ้ง 737-900ER จำนวน 4 ลำ ล่าสุดในปี 2567 จะรับมอบเครื่องบินเข้ามาอีก 5 ลำ และในปี 2568 จะรับมอบอีก 5 ลำเช่นกัน ทั้งหมดยังคงเป็นโบอิ้ง 737-800 หรือโบอิ้ง 737-900ER

นางสาวนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันภาพรวมการให้บริการของไทยไลอ้อนแอร์ เฉพาะเส้นทางในประเทศ ในเชิงจุดบินกลับมาให้บริการครบ 100% แล้ว แต่ในเชิงปริมาณที่นั่งโดยสารฟื้นตัว 50-60% ตั้งเป้าฟื้นกลับมาเต็มร้อยภายในไตรมาส 1-2 ปี 2568 ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ ในเชิงจุดบินปัจจุบันให้บริการ 15 จุดบิน กลับมาเกือบ 50% เทียบกับก่อนโควิดที่มีประมาณ 40 จุดบิน แต่ในเชิงปริมาณที่นั่งโดยสารฟื้นตัว 60%

จากแผนการรับมอบเครื่องบินเข้ามา 5 ลำใหม่ในปีนี้ จะนำมาเพิ่มความถี่เส้นทางบินเดิมและเปิดเส้นทางระหว่างประเทศใหม่ อาทิ “อินเดีย” เปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ - อาห์เมดาบัด ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มบิน 15 ส.ค. และในไตรมาส 4 เตรียมเปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ - อัมริตสาร์ อินเดีย และเส้นทาง กรุงเทพฯ - ฮ่องกง

ขณะเดียวกันจะเพิ่มความถี่เส้นทาง กรุงเทพฯ - ไทเป - โตเกียว (นาริตะ) ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้เสรีภาพการบินที่ 5 (Fifth Freedom) เลือกกรุงไทเป (ไต้หวัน) เป็นจุดแวะรับส่งผู้โดยสาร จากปัจจุบันมี 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จะเพิ่มเป็น 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในปลายปีนี้ การเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ในสิ้นปี 2568 ไทยไลอ้อน แอร์ จะมีฝูงบินรวม 30 ลำ

ไทยแอร์เอเชีย-ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์  เพิ่ม 100-150 ลำเข้าฝูง

นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า จากกรณีสายการบินในกลุ่มแอร์เอเชีย มีแผนจะสั่งเครื่องบินเพิ่มอีก 412 ลำ ซึ่งจะทยอยรับมอบในระยะยาว เป็นเครื่องบินระยะบิน 8 ชั่วโมง และ 12 ชั่วโมง

โดยในจำนวนนี้กว่า 25% ของจำนวนเครื่องบินทั้งหมดที่สั่งไป หรือประมาณ 100-150 ลำ จะนำมาปฏิบัติการบินในประเทศไทย ในนามของไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ทั้งนี้การมีเครื่องบินรุ่นใหม่ ๆ จะทำให้สายการบินเปิดเส้นทางใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น เชียงใหม่-บาหลี, กรุงเทพฯ สู่ ญี่ปุ่นในเส้นทางที่ยังไม่เคยทำการบิน หรือเกาหลีใต้ในบางเมือง

แผนขยายฝูงบินของสายการบินของไทย

ไทยเวียตเจ็ท สูงสุด 50 ลำ ภายใน 5 ปี

นอกจากนี้ในส่วนสายการบินไทยเวียตเจ็ท ก็มีแผนจะรับมอบเครื่องบินแอร์บัสเอ 320 เข้ามาอีก 2 ลำ และเตรียมจะรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 737 อีก 9-12 ลำที่จะทยอยเข้ามาภายในปีหน้า ซึ่งเป็นเครื่องบินเช่า ซึ่งเป็นไปตามแผนที่จะเพิ่มเครื่องบินใหม่  สูงสุด 50 ลำ ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป เพื่อรองรับแผนการขยายฝูงบินและเครือข่ายเส้นทางบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ดังนั้นในอีก 3-10 ปีข้างหน้าสายการบินของไทย จะมีจำนวนฝูงบิน รวม 403 ลำ ในการรองรับการขยายธุรกิจ ตามดีมานต์การเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,021 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567