ชัดแล้ว 25 ก.ย. โอนเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กลุ่มเปราะบาง 14.2 ล้านราย

12 ก.ย. 2567 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 05:24 น.

เงินดิจิทัลกลุ่มเปราะบางได้วันไหน “พิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง" เฉลยแล้วในการชี้แจงสภาฯ รัฐพร้อมโอน “เงินดิจิทัล” 10,000 บาท ก้อนแรก ให้ 14.2 ล้านคน 25 ก.ย.นี้ ระบุใช้งบ 1.42 แสนล้านบาท รับงบมีจำกัด ขอใช้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ก่อนลุยเฟส 2

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงต่อสภาฯ หลังจากประชุมแถลงนโยบายของรัฐบาล ว่า ประมาณวันที่ 25 ก.ย.นี้ จะสามารถเคาะระฆังให้เงินก้อนแรกโอนเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบางได้ 14.2 ล้านคนได้ โดยใช้งบประมาณ วงเงิน 1.42 แสนล้านบาท

ส่วนที่เหลือผู้ที่ลงทะเบียนกว่า 30 ล้านคนนั้น ยืนยันว่า จะเดินหน้าต่อไป ซึ่งเบื้องหลังเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มของประเทศ ยังมีประโยชน์อื่นๆ ซ่อนอยู่ เราจะเดินต่อไป แต่จะไปเป็นที่เฟสที่ 2

อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่า เนื่องจากงบประมาณที่จำกัด เราจึงอยากให้งบประมาณจากงบกลาง ไปให้ความสำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างซึ่งเป็นจุดอ่อนแอของประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจปานกลาง และระยะยาว หากมีวงเงินเหลือก็จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล

ชัดแล้ว 25 ก.ย. โอนเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กลุ่มเปราะบาง 14.2 ล้านราย

"รัฐบาลยังคงเดินหน้าแพลตฟอร์มดิจิตอล แต่ในเฟสที่ 2 นี้ จะต้องพิจารณาถึงความพร้อมเรื่องงบประมาณ เพราะมีจำกัด และต้องการให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณงบกลาง ให้กับการปรับปรุงโครงสร้างที่เป็นจุดอ่อนของประเทศก่อน และหากมีเงินเหลือก็จะแบ่งมา และถ้ามองในภาพนี้ ต้องมีความยืดหยุ่นของแผน ตลอดเวลา เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป" นายพิชัย กล่าว


ทั้งนี้ ดิจิทัล วอลเล็ตนั้น จะต้องทำให้ประชาชนรู้จัก และมีจิตสำนึกในการใช้ดิจิทัล ฉะนั้น การโอนเงินผ่านระบบเหล่านี้จะให้ต้องให้ประชาชนเรียนรู้ได้เร็ว ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุด เราต้องมีแพลตฟอร์มตัวเอง ผ่าน “ทางรัฐ” และควรจะมีวอลเล็ตเป็นของตัวเอง ซึ่งจะต้องมีโอเพ่นลูปด้วย เพื่อให้รัฐบาลสร้างความเสมอภาค และสร้างโอกาสของธุรกิจเท่าเทียมกัน

“หากวันนี้ผมใช้แอปพลิเคชัน เป๋าตัง ก็เหมือนกับผมใช้บริการกรุงไทย หากใช้บริการพร้อมเพย์ ก็เหมือนกับใช้บริการอีกเจ้าหนึ่ง ฉะนั้น ทำไมไม่ใช้โอเพ่นลูป ที่จะใช้เป๋าตัง หรือพร้อมเพย์ ก็มาอยู่ในแพลตฟอร์มที่เชื่อมกันได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำได้ไม่ได้ง่ายนัก”

นายพิชัย กล่าวว่า เมื่อมีหนี้ ทุกคนหายใจไม่สะดวก การแก้ไขหนี้ คือการเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงเงินในกระเป๋า ความพร้อมของระบบ และงบประมาณที่เราได้รับการอนุมัติช้า หรือเร็ว ซึ่งเป็นองค์ประกอบการตัดสินใจว่าเราจะเดินหน้าไปอย่างไร