29 ตุลาคม 2567 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 30/2567 ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย
ภาพรวมเหลือเพียง 9 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก อ่างทอง สุพรรณบุรี และนครปฐม โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งประสบภาวะน้ำท่วมเป็นครั้งที่ 3 มีสถานพยาบาลใน อ.บางบาล ได้รับผลกระทบ 5 แห่ง ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่ออีก 1 เดือน จากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติปลายเดือนพฤศจิกายน นี้
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ประสบภัยช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่เข้าสู่ระยะฟื้นฟู กระทรวงสาธารณสุขจึงออกคำแนะนำการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมหลังน้ำท่วมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.สถานประกอบการ
การจัดการด้านความสะอาด การจัดการสุขาภิบาลอาหาร การจัดการขยะ การจัดการคุณภาพน้ำ การจัดการน้ำเสีย/สิ่งปฏิกูล และการจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคาร
2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การควบคุม กำกับสุขลักษณะของสถานประกอบการให้สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน การให้คำแนะนำผู้ประกอบการในการจัดการสุขลักษณะ สุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐาน
การสนับสนุนการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการและประชาชน และการสนับสนุนการสื่อสารความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมให้กับนักท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่าง ๆ
3.นักท่องเที่ยวและประชาชน
การติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงภัยพิบัติในพื้นที่ เช่น ฝุ่นละออง น้ำท่วม เพื่อเตรียมการป้องกันและลดความเสี่ยงทางสุขภาพอนามัย การสังเกตตราสัญลักษณ์ด้านความปลอดภัยและการจัดการสุขลักษณะที่ดีของสถานประกอบการก่อนเข้ารับบริการ
การดูแลป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพของตนเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังใช้บริการทุกครั้ง หรือหลังสัมผัสจุดเสี่ยงต่าง ๆ