IATA แนะไทยสร้างรากฐานด้านการบิน ค้านจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวของรัฐบาล

30 ต.ค. 2567 | 10:56 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2567 | 11:44 น.

IATA ดึงผู้นำสายการบินระดับสูง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการบินจากทั่วโลกกว่า 1 พันคน ร่วมสัมมนาในประเทศไทย ทั้งแนะนำอนาคตการบินของไทย ย้ำให้ไทยเสริมสร้างรากฐานของภาคการบิน ทั้งค้านการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวของรัฐบาล กระทบต่อความต้องการในการเดินทาง

วันนี้ (วันที่ 30 ตุลาคม 2567) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ( IATA ) หรือ ไออาต้า  ได้จัดงานสัมมนาด้านการเงินโลกและด้านการโดยสารการเดินทาง ที่ประเทศไทย โดยเชิญผู้นำสายการบินระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการบินจากทั่วโลกกว่า 1,000 คน เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกัน

รวมทั้ง IATA ยังได้แนะนำประเทศไทย ถึงอนาคตการบินของไทย - โครงสร้างพื้นฐาน ระบบดิจิทัล และความยั่งยืน โดยได้แนะนำให้ประเทศไทยเสริมสร้างรากฐานของภาคการบินขณะที่ประเทศกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารของไทยจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 3.88% ระหว่างปี 2567 ถึง 2586

IIATA จัดงานสัมมนาด้านการเงินโลกและด้านการโดยสารการเดินทาง ที่ประเทศไทย

“ศักยภาพการบินของไทยมีแนวโน้มที่ดี ในขณะนี้ความต้องการเดินทางทางอากาศฟื้นตัวแล้วถึง 88% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 และคาดว่าจะกลับมาเทียบเท่าอย่างแท้จริงตั้งแต่ปี 2568 ด้วยการเติบโตจากการท่องเที่ยวระดับโลกและภาคธุรกิจในภูมิภาคที่กำลังเติบโต ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะมีการเติบโตทางตลาดการบินใน15 อันดับแรกของโลกในอีกสองทศวรรษข้างหน้า” ดร. สี ซิงเฉียน (Dr Xie Xingquan) รองประธานภูมิภาคเอเชียเหนือและ (รักษาการ) เอเชียแปซิฟิก ของ IATA กล่าว

ดร. สี (Dr Xie) แนะนำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเพื่อเสริมสร้างภาคการบินของประเทศไทย เพื่อเพิ่มประโยชน์สูงสุดที่ช่วยให้ธุรกิจการบินสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ด้วย 84% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยโดยทางอากาศยาน (ก่อน COVID-19) ความสำคัญของการบินต่อภาคเศรษฐกิจหลักนี้ (7.4% ของ GDP ก่อน COVID-19) นั้นชัดเจน

IATA แนะไทยสร้างรากฐานด้านการบิน ค้านจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวของรัฐบาล

“การส่งเสริมการท่องเที่ยวควรเป็นสิ่งสำคัญอัตราภาระภาษีที่ต่ำเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นกุญแจสำคัญของประเทศไทย ในการรักษาตำแหน่งผู้นำในภาคการท่องเที่ยวในเอเชีย การประชุม สัมมนา การจัดงานแสดงสินค้า(MICE) จะเสริมสร้างศูนย์กลางการบินของกรุงเทพฯแทนที่จะพิจารณาการนำภาษีท่องเที่ยวมาใช้อีกครั้งหนึ่งซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร รัฐบาลควรพิจารณาหาวิธีการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวโดยการลดต้นทุนมากกว่า” ดร.สี (Dr Xie) กล่าว

นอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระภาษีการบิน ดร. สี (Dr Xie) ยังเน้นย้ำถึงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบดิจิทัล และความยั่งยืน เป็นหลักสำคัญโครงสร้างพื้นฐาน:แผนการปรับปรุงและขยายสนามบินสุวรรณภูมิมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรับรองว่าโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินนั้นสามารถรองรับแนวโน้มการเติบโตของการเดินทางโดยทางอากาศยานที่คาดการณ์ได้

“การปรับปรุงแผนแม่บทสนามบินของประเทศไทย จะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านภาคอุตสาหกรรมการบิน การหารือกับทางสายการบินจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนนั้นอย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อันจะสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ” ดร. สี (Dr Xie) กล่าว

IATA แนะไทยสร้างรากฐานด้านการบิน ค้านจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวของรัฐบาล

ดิจิทัล: ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อยกระดับประสบการณ์การเดินทางของผู้โดยสาร ซึ่งรวมถึงระบบการตรวจคนเข้าเมือง

ดร. สี (Dr Xie) กล่าวว่า “การใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับประสบการณ์การเดินทางของผู้โดยสารจะประสบความสำเร็จสูงสุด หากสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาระดับโลก เช่น One ID ซึ่งเป็นระบบการยืนยันตัวตน และ One Record ซึ่งเป็นการปรับปรุงกระบวนการขนส่งสินค้าทางอากาศ”

 

ความยั่งยืน: กระทรวงพลังงานของไทยกำลังจัดทำร่างแผนน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ. 2567

 

ดร. สี (Dr Xie) ยังได้กล่าวว่า ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินกำลังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นโอกาสอันดียิ่งของประเทศไทยในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ขณะที่รัฐบาลกำลังสำรวจนโยบายเพื่อสนับสนุนการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF)  นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงว่าสายการบินจะสามารถซื้อเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ได้ก็ต่อเมื่อมีการจำหน่ายในตลาด มีปริมาณเพียงพอ ก่อนจะมีบทบังคับใช้ โดยมีความยืดหยุ่นในมาตรการการลงโทษ หากเป้าหมายของภาครัฐไม่สามารถบรรลุถึงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ได้ตามจำนวนความต้องการ