“ศักดิ์สยาม” เร่งพัฒนาระบบขนส่ง ดันเม็ดเงินระบบเศรษฐกิจ แตะ 2.4 ล้านล้าน

19 พ.ค. 2565 | 10:19 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 17:29 น.

“ศักดิ์สยาม” เร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ 4 มิติ กระตุ้นเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ กว่า 2.4 ล้านล้านบาท ดันจีดีพีโต 2-3% ลุยอัพเกรดสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ฟื้นธุรกิจการบิน ฟากไออาต้าคาดปี 74 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศกว่า 200 ล้านคนต่อปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนา “Better Thailand ถามมา ตอบไป” หัวข้อ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร หัวข้อ โครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาพื้นที่และการวางรากฐานการพัฒนาในอนาคต ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2578 โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ทางบก ทาน้ำ ทางราง และทางอากาศ ซึ่งจะต้องทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เกิดการลงทุนและข้อได้เปรียบของประชาชนและภาคเอกชนที่จะลงทุน

 

“ศักดิ์สยาม” เร่งพัฒนาระบบขนส่ง ดันเม็ดเงินระบบเศรษฐกิจ แตะ 2.4 ล้านล้าน

 “ยืนยันว่าในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการหยุดพัฒนาหรือหยุดก่อสร้างโครงการ เม็ดเงินที่ทุ่มลงไปนั้นจะนำมาพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท โดยใช้งบประมาณปกติและงบของรัฐวิสาหกิจ คาดว่าเม็ดเงินเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระตุ้นการลงทุน จากผลของการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านล้านบาท รวมทั้งมีการใช้ซัพพลายเชนในส่วนของงานก่อสร้างประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะมีการจ้างงานไม่ต่ำว่า 1.5 แสนตำแหน่ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 2-3%”

 

“ศักดิ์สยาม” เร่งพัฒนาระบบขนส่ง ดันเม็ดเงินระบบเศรษฐกิจ แตะ 2.4 ล้านล้าน

 ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รวม 14 สาย 27 เส้นทาง ระยะทาง 554 กิโลเมตร (กม.) ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ปัจจุบันความก้าวหน้าโครงการนั้น มีการเปิดให้บริการแล้ว จำนวน 11 เส้นทาง ระยะทาง 212 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย 1.สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 2.สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สมุทรปราการ 3.สายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า 4.สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 5.สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ 6.สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค 7.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ 8.สายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน 9.สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน 10.สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ11.สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 4 เส้นทาง ระยะทาง 124 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย 1.สายสีชมพู ช่วงแคราย- มีนบุรี 2.สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง 3.สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี และ 4.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ขณะที่อีก 4 เส้นทาง ระยะทาง 93 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย 1.สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 2.ต่อขยายสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก,ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา,ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 3.ต่อขยายสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง,ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต 4.สายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ เบื้องต้นทางกระทรวงจะเร่งรัดดำเนินการโครงการดังกล่าว คาดว่าจะเสนอต่อครม.และสามารถดำเนินการเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีก และระยะต่อไปจะดำเนินการอีก 8 เส้นทาง ระยะทาง 134 กิโลเมตร (กม.) คาดว่าดำเนินการแล้วเสร็จครบทุกโครงการในปี 2572 ซึ่งจะเป็นทางเลือกการให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ช่วยลดฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ยังแผนศึกษาระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะ เช่น การนำรถโดยสารขสมก.มาให้บริการ สามารถอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้

 

“ศักดิ์สยาม” เร่งพัฒนาระบบขนส่ง ดันเม็ดเงินระบบเศรษฐกิจ แตะ 2.4 ล้านล้าน

 นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กระทรวงยังมีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะทาง 3,200 กิโลเมตร (กม.) ทั่วประเทศ ขณะนี้ได้มีการก่อสร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ 4 เส้นทาง ระยะทาง 568 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย 1.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 2.ช่วงนครปฐม-หัวหิน 3.ช่วงหัวหิน-ประจวบฯ 4.ช่วงประจวบฯ-ชุมพร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างเสนทางสายใหม่ 2 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.สายเด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ 2.สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 678 กิโลเมตร (กม.) และอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย 1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 2.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 3.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 4.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 6.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี และ 7. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในปี 2576-2578 หากดำเนินการได้ถือเป็นการปฏิวัติระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนการฟื้นตัวของธุรกิจการบินนั้น สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) คาดว่าในอีก 10 ข้างหน้า หรือปี 2574 ไทยจะมีนักเดินทางเข้ามาเป็นอันดับที่ 9 ของโลก หรือมีต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยไม่น้อยกว่า 200 ล้านคนต่อปี โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีคนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 40 ล้านคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่า ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้วางแผนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งมีแผนขยายอาคารรองรับผู้โดยสาร ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ในอนาคต 

“ศักดิ์สยาม” เร่งพัฒนาระบบขนส่ง ดันเม็ดเงินระบบเศรษฐกิจ แตะ 2.4 ล้านล้าน

 

อย่างไรก็ตามหลังจากที่รัฐบาลประกาศคลายล็อกเรื่องการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยเริ่มเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบไป เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศ เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นคนต่อวัน คาดว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ เดินทางเข้ามาในไทยรวมไม่ต่ำกว่า 22 ล้านคน ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศก่อนเกิดโควิด-19 จากการประเมินเหล่านี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นแน่นอน