ล่าสุดสหภาพแรงงานการบินไทย และ เจ้าหนี้ ออกโรงคัดค้าน กรณีที่กระทรวงการคลังยื่นแก้แผนฟื้นฟูกิจการ ‘การบินไทย’ ขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู การบินไทย 2 ราย จากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ได้แก่ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ 2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู
ทั้งนี้เพื่อแลกกับการตัดสินใจในการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุน ในกระบวนการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งเป็นขี้นตอนสุดท้าย เพื่อให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะจัดประชุมเจ้าหนี้พื่อเสนอมตินี้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 นี้
วันนี้ (วันที่ 6 ตุลาคม 2567 ) ทางสหภาพแรงงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งแก่พนักงานที่เป็นเจ้าหนี้รายย่อยการบินไทย ให้เข้าร่วมประชุมประชุมเจ้าหนี้ ออนไลน์ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ให้พร้อมเพรียง โดยระบุว่า ถ้าไม่อยากได้ผู้บริหารแผนตัวแทนรัฐเพิ่มอีก 2 โหวต No เท่านั้น
ถ้าอยากเลื่อนประชุมเสนอในที่ประชุม ชวนเพื่อนเจ้าหนี้โหวตให้ถึง 10% ของหนี้รวมคนเข้าประชุม ไม่อย่างนั้นได้ผู้บริหารแผนจากรัฐเพิ่มอีก 2 คนแน่นอน
งานนี้ โหวตงดออกเสียงไม่นับ คลังและเจ้าหนี้ภาครัฐเข้าประชุมครบ
กลางเดือนธันวานี้ คลังก็ไม่เหลือหนี้แล้วเพราะแปลงหนี้เป็นทุน 100% ไม่มีสิทธิมีเสียงในฐานะเจ้าหนี้อีก
มาร่วมแสดงพลังเจ้าหนี้รายย่อยกันให้เป็นปรากฏการณ์ การตัดสินใจครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของพวกเราเจ้าหนี้ การบินไทยได้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูต่อศาล ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการฟื้นฟูกิจการที่กำลังดำเนินไปด้วยดี
ที่ผ่านมาการบินไทยแบบไร้การเมืองได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากปล่อยให้บริหารงานด้วยตนเองในแบบที่คล่องตัวแบบเอกชน สามารถยืนหยัดและสู้กับสายการบินทั่วโลกได้อย่างแข็งแกร่ง
ขณะที่ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้ ได้ทำจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า ไม่เห็นว่า การเพิ่มจำนวนผู้แทนจากกระทรวงการคลังเพื่อมาเป็นคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะยังประโยชน์แก่เจ้าหนี้ จะยังประโยชน์แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และยังประโยชน์แก่สาธารณะแต่อย่างใด
การเพิ่มจำนวนผู้แทนดังกล่าวมาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงที่การบริหารจัดการต่างๆ มีความลงตัว และคืบหน้าไปมากแล้ว เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่บริษัท เจ้าหนี้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หากต้องการให้เติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริษัทชุดแรกที่ทรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลและไม่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ
การเพิ่มจำนวนผู้แทนกระทรวงการคลังจำนวน 2 คนนั้น เป็นการผูกขาดอำนาจการบริหารแผนฟื้นฟูในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ผู้บริหารแผนฯ มีอำนาจสำคัญในการคัดเลือกคณะกรรมการมการบริษัท และกำหนดชะตากรรม/อนาคตของบริษัท
โดยเฉพาะเรื่องการบริหารฝูงบิน และจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของบริษัทและเจ้าหนี้ ภาครัฐที่มีธรรมาภิบาลอย่างดี จึงไม่สมควรเข้ามาแทรกแซงบริษัทเอกชน และไม่ควรเอาเปรียบเจ้าหนี้ทั้งปวงเยี่ยงนี้
จึงเห็นว่า ที่ประชุมเจ้าหนี้ จะไม่ยอมรับการเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฯ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ เพื่อประโยชน์ของการบินไทย และเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึง ไม่เห็นด้วย ต่อข้อเสนอของกระทรวงการคลังดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าตามที่เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ต่อมาผู้บริหารแผนของบริษัทได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 (คำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 1) นั้น
ผู้บริหารแผนได้พิจารณาเนื้อหาถ้อยคำในแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติมแล้วเห็นว่า หากในอนาคตบริษัทจะมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น แผนฟื้นฟูกิจการควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจน ว่าเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดเป็นจำนวนเงินที่เท่ากัน อันจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้
ดังนั้นผู้บริหารแผนจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อขอเพิ่มเนื้อหาในประเด็นดังกล่าวด้วย (คำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 2)
นอกจากนี้ สืบเนื่องจากการที่กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ และในฐานะที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทได้มีหนังสือมายังบริษัท เพื่อเสนอให้เพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ 2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
โดยกระทรวงการคลังได้ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นโดยสรุปว่า เนื่องจากในช่วงเวลาการดำเนินการตามแผนที่เหลืออยู่ บริษัทจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญและมีผลผูกพันถึงการดำเนินงานต่าง ๆ ในอนาคต โดยการตัดสินใจที่สำคัญดังกล่าว บริษัทจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของบริษัทภายหลังการออกจากการฟื้นฟูกิจการมาร่วมตัดสินใจและสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อให้การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการและการออกจากการฟื้นฟูกิจการของบริษัทเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ซึ่งผู้บริหารแผนพิจารณาแล้วเห็นว่าควรนำข้อเสนอของกระทรวงการคลังเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาลงมติตามความเห็นของเจ้าหนี้ต่อไป