วิกฤต“โบอิ้ง”สะเทือนการฟื้นตัวธุรกิจสายการบินไทย-โลก

31 ต.ค. 2567 | 05:54 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2567 | 06:26 น.

สารพัดปัจจัยลบ “โบอิ้ง”ขาดทุนปักโกรก สะเทือนการฟื้นตัวของธุรกิจการบินของไทยและของโลก หลังส่งมอบเครื่องบินใหม่ไม่ทันกำหนด กระทบการสร้างโอกาสในการทำรายได้ของตัวเองและสายการบิน จับตาดูแผนเพิ่มทุน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดพนักงาน 1.7 หมื่นคน เสริมสภาพคล่องธุรกิจ

ท่ามกลางธุรกิจการบินที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังโควิด-19 ส่งผลให้สายการบินต่างๆทั่วโลก รวมถึงสายการบินของประเทศไทย ต่างมีความต้องการเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อขยายธุรกิจในการกลับมาทำกำไรอย่างต่อเนื่อง แต่นาทีนี้ด้วยวิกฤตของบิ๊กผู้ผลิตเครื่องบินระดับโลกอย่าง “โบอิ้ง” ที่กำลังเผชิญกับปัญหาการส่งมอบเครื่องบินที่ต้องล่าช้าออกไป ส่งผลกระทบต่อแผนการขยายธุรกิจของสายการบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิกฤตโบอิ้ง

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าปีนี้อุตสาหกรรมการบินของโลก จะมีกำไร 3.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 2.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 4.7 พันล้านคนในปีหน้า ซึ่งมากกว่าจำนวนสูงสุดก่อนเกิดโควิด-19

ทั้งยังประเมินว่าแนวโน้มไว้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2586 จะมีผู้โดยสารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.1 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2566 หรือเติบโตเฉลี่ย 3.8% ต่อปี ทำให้มีผู้โดยสารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4,154 ล้านคน เฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครองส่วนแบ่งไปกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนดังกล่าว คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารส่วนต่างเพิ่มขึ้น 2,750 ล้านคน เติบโตเฉลี่ย 5.3% ต่อปี สูงกว่าภาพรวมตลาด

การขยายตัวของการเดินทางเพิ่มขึ้น สายการบินจึงมีความต้องการเครื่องบินเพิ่มขึ้น แต่การสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ วันนี้ต้องรอคิวนานกว่าเดิมไม่ต่ำกว่า 3- 5 ปี เนื่องจากโควิด-19 ไม่เพียงแต่สายการบินที่ได้รับผลกระทบ แต่ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน อย่าง ทั้งโบอิ้ง แอร์บัส ต่างก็มีปัญหากำลังการผลิตที่ล่าช้าอยู่แล้วเดิม จากแรงงานในตลาดที่หายไปในช่วงโควิด

ดังนั้นเมื่อธุรกิจการบินฟื้นตัว สายการบินต่างสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้น ซึ่งจากยอดคำสั่งซื้อเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตเครื่องบินต่างต้องการคว้าโอกาสในการทำกำไร แต่ด้วยกำลังการผลิตที่ยังรองรับไม่ทันต่อการขยายตัว ทำให้

ล่าสุดแอร์บัส ยังออกมาคาดการณ์กำไรของบริษัทในปีนี้ ที่จะมีกำไรลดลงจากเป้าที่วางไว้ จากการคาดการณ์ว่าจะส่งมอบเครื่องบินในปีนี้ได้ราว 770 ลำ ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่วางเป้าหมายไว้ที่เกือบ 800 ลำ และแอร์บัสยังชะลอกำหนดเวลาเป้าหมายในการเพิ่มการผลิตเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 อีกด้วย

ขณะที่สายการบินที่สั่งเครื่องบินจากโบอิ้ง มีแนวโน้มจะได้รับมอบเครื่องบินช้ากว่าเดิมไปอีก เนื่องจากโบอิ้ง เกิดวิกฤตที่มีปัญหาซ้ำเติมเข้ามาต่อเนื่องมาตลอดทั้งปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาที่เกิดจากไลน์การผลิตของเครื่องบินบางรุ่น อย่าง โบอิ้ง 777X ที่ได้สั่งหยุดทดสอบเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่น 777X อีกครั้งแบบไม่มีกำหนด หลังจากตรวจสอบเครื่องบินรุ่นทดสอบ พบความเสียหายของโครงสร้างตัวเครื่องที่สั่งทำพิเศษ อยู่ระหว่างตัวเครื่อง และโครงสร้างเครื่องบิน

หรือแม้แต่ โบอิ้ง 737 MAX ที่มีปัญหาก่อนหน้านี้ จนเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก 2 ครั้ง เมื่อ 5 ปีก่อน และล่าสุดโบอิ้งต้องยอมสารภาพต่อศาล ถึงการรับสารภาพข้อหาฉ้อโกงและยอมจ่ายค่าปรับ 243.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8 พันกว่าล้านบาท) เพื่อให้จบคดีเครื่องบิน 737 MAX ตก และในปีนี้ก็ยังเกิดผนังและหน้าต่างประตูหลุดกลางอากาศขณะทำการบิน

ทำให้องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ต้องสั่งระงับเที่ยวบินของเครื่องบินโบอิ้งรุ่นนี้จำนวน 171 ลำ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย สิ่งที่เกิดขึ้นได้กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องบินที่เกิดขึ้น

แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นโบอิ้งก็มีปัญหาการประท้วงของพนักงานกว่า 33,000 คน ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา หลังจาก 64 % ของพนักงานทั้งหมดหยุดงานประท้วง ไม่ยอมรับเงื่อนไขจากบริษัทที่เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างในอัตรา 35 % ในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยพนักงานต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตรา 40 % ซึ่งการหยุดงานประท้วงลุกลามมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผลประกอบการโบอิ้งในไตรมาสล่าสุด อย่างไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ขาดทุนกว่า 6.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.27 แสนล้านบาท)

การประท้วงหยุดงานของพนักงานโบอิ้งที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตที่โรงงานในรัฐวอชิงตันและโอเรกอน ซึ่งครอบคลุมเครื่องบินรุ่นต่างๆ เช่น 737 MAX, 767, 777/777X, P-8, KC-46A Tanker และ E-7 Wedgetail โดยบริษัทได้ยืนยันว่า การหยุดผลิตนี้เป็นการชั่วคราว

อีกทั้งการหยุดงานครั้งนี้ยังส่งผลให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนในรัฐวอชิงตันและโอเรกอนต้องหยุดทำงานเช่นกัน ทำให้โบอิ้ง ต้องเลื่อนกำหนดการผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ออกไปอีก 6 เดือน และต้องเลื่อนการส่งมอบเครื่องบิน 777X ไปเป็นปี 2569

จากปัญหาการขาดทุนอย่างหนักของโบอิ้ง ทำให้บริษัทฯได้ออกมาประกาศแล้วว่าจะปรับลด 10 % ของแรงงาน คิดเป็น 17,000 ตำแหน่งจากพนักงานรวม 171,000 คนทั่วโลก เพื่อฟื้นกิจการของบริษัทโบอิ้งให้กลับมามีผลประกอบการอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งในอนาคต

รวมถึงล่าสุดยังตั้งเป้าเตรียมระดมทุนเพิ่มมากกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเสริมสภาพคล่องบริษัท ซึ่งการระดมทุนครั้งนี้คาดว่าจะประกอบไปด้วยหุ้นและตราสารหนี้ที่สามารถแปลงเป็นหุ้นได้ โดยที่ปรึกษาของโบอิ้งได้สรุปรายชื่อนักลงทุนที่มีศักยภาพไว้สำหรับการระดมทุนครั้งนี้แล้ว

ทั้งนี้โบอิ้งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2567 ที่ผ่านมาให้ขายหุ้นและตราสารหนี้ได้ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจช่วยให้โบอิ้งหลีกเลี่ยงการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือสู่ระดับ “ขยะ” ได้ และเพื่อรักษาอันดับความน่าเชื่อถือระดับลงทุน

โดยโบอิ้งมีแผนจะใช้จ่ายเงินสดราว 4 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4/2567 ซึ่งจะทำให้กระแสเงินสดอิสระที่ไหลออก (free-cash outflow) ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับปีนี้ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะยังคงใช้เงินสดต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า เนื่องจากบริษัทจะเริ่มสายการผลิตเครื่องบินอีกครั้ง รวมถึงสายการประกอบเครื่องบินรุ่น โบอิ้ง 737 MAX ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่ขายดีที่สุด

การออกมาแก้ปัญหาของโบอิ้งที่เกิดขึ้น สายการบินต่างๆก็หวังว่าจะทำให้โบอิ้งจะส่งมอบเครื่องบินให้ไม่ช้าไปจากเดิมจนเกินไป ซึ่งในส่วนของสายการบินของไทย มีการจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX อยู่หลายสายการบิน อาทิ นกแอร์ ไทยเวียตเจ็ท การบินไทย หรือแม้สายการบินใหม่ที่เตรียมจะเปิดทำการบิน อย่าง P 80 Air ของตระกูลมหากิจศิริ

อย่างไรก็ตามแม้โบอิ้งจะออกมาแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ แต่โบอิ้งก็ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบ จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน และสหรัฐอเมริกา ทำให้สายการบินของจีน เลือกที่จะซื้อเครื่องบินแอร์บัส เกือบ 300 ลำ ยังไม่รวมกับการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ของจีน Comac C919 ที่สายการบินของจีน อย่าง ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส มีคำสั่งซื้อเครื่องบิน C919 มากกว่า 1,900 ลำแล้ว งานนี้จึงจัดว่าเป็นอุปสรรคที่จะมีผลต่อโบอิ้งเช่นกัน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,041 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567