แผนการพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยวในปี 2568 ททท.จะให้ความสำคัญกับตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market โดยโฟกัส ใน 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ เวลเนส , Lux Experience ,สปอร์ต ทัวริสซึม และ กลุ่มโรมานซ์ หรือ กลุ่มฮันนีมูน เพราะแม้จะมีจำนวนน้อย แต่มีกำลังในการใช้จ่ายสูง และจัดว่าเป็นกลุ่มตลาดลักชัวรี
โดยตลาดนิซมาร์เก็ต มีมูลค่าตลาดโลกอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 และคาดว่าจะเติบโตถึง 3.9 แสนล้านบาทในปี 2570 โดยจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่ม Millennials ที่มีฐานะปานกลางถึงสูง ในประเทศแถบเอเชีย เช่น จีน มาเลเซีย ฮ่องกง และอินเดีย
สำหรับการท่องเที่ยวแบบลักชูรีในไทยได้รับความสนใจและเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2566 มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวลักชูรีในไทย อยู่ที่ราว 6-7 หมื่นล้านบาท และททท. คาดว่าในปี 2567 จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง 8-10% ต่อปี
โดยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ในช่วงไตรมาส 1-3 (ม.ค.-ก.ย. 2567) นักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรีมีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกไปในพื้นที่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี (พัทยา) กระบี่ และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) มีค่าใช้จ่ายรวมเฉลี่ย 77,693 บาท/คน/ทริป (เฉลี่ยวันละ 6,171 บาท) ใช้เวลาในไทยราว 9-10 วัน
วันนี้ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทหรูในไทย มีให้บริการระดับ Premium ไปจนถึงระดับ Ultra Luxury มีการบริหารโดยเชนโรงแรมระดับโลกเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับโรงแรม 4-5 ดาวก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 20-30 % ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดที่สัมพันธ์กับดีมานต์การเข้าพักที่สูงขึ้น ส่งผลให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดลักชัวรีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สำหรับแผนการโปรโมทการท่องเที่ยวนิซมาร์เก็ตและ Luxury ในไทย แผนระยะสั้น (1-3 ปี) จะเน้นส่งเสริม’งานในลักษณะ “เอ็กซ์คลูซีฟ อีเว้นท์” เหมือนโมเดลของสิงคโปร์ ที่ดึงการจัดงานระดับโลกให้จัดอยู่ที่สิงคโปร์ ห้ามไปจัดที่ประเทศอื่น
โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความคุ้มค่าในการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งการจัดงานระดับโลก จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงได้เป็นอย่างดี เช่น การจัดคอนเสิร์ต งานด้านดนตรี
หรือแม้แต่กิจกรรมกีฬาในลักษณะเวิลด์ซีรีย์ อย่าง งานวิ่งเทรล HOKA เชียงใหม่ที่เพิ่งผ่านไป เป็นรายการเวิล์ดเมเจอร์ มีนักวิ่งกว่า 7 พันคน กว่า 70% เป็นชาวต่างชาติ สร้างรายได้มากกว่า 800 ล้านบาท หรืออย่างอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน ที่นักวิ่งมาราธอนกว่า 3.3 หมื่นคน
ซึ่งเป็นคนต่างชาติราว 30 % การจัดงานในปีหน้านายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวมีนโยบายที่จะดึงสปอนเซอร์ระดับโลกเข้ามา ก็จะทำให้ดึงดูดนักวิ่งจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น เป็นต้น
อีกทั้งททท.ยังจะส่งเสริมเรื่องของเทศกาลดนตรีนานาชาติ การประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ การแข่งขันกีฬาหรู (เช่น การแข่งเรือยอชต์) การส่งเสริมให้ไทยเป็นสถานที่จัดงานแฟชั่นโชว์ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นความร่วมมือกับแบรนด์หรูในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แฟชั่น สปา และโรงแรมหรู เพื่อสร้างประสบการณ์ที่โดดเด่นและน่าประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวระดับลักชัวรี
ททท.จะรุกตลาดศักยภาพ เน้นทำการตลาดในประเทศที่มีศักยภาพด้านลักชูรี อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง และนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมาย
“เทรนด์การท่องเที่ยวในปีหน้า คือ แอคทีฟ ฮอลิเดย์ คือ มาเที่ยวไปด้วย พร้อมๆกับการออกกำลังกาย หรือดูแลสุขภาพ มาทำเรื่องเวลเนสด้วย โรงแรมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ให้บริการทั้งเวลเนส และด้านสปอร์ต ทัวริสซึม
และหากเพิ่มเรื่องการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ก็จะยิ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์โลกที่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะยุโรป จะให้ความสนใจใช้บริการสถานประกอบการที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และการออกมาตรการต่างๆของสหภาพยุโรป หรืออียู ที่บังคับเรื่องนี้มากขึ้น”
บิ๊กมูฟของททท. ผลักดันให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ อาทิ ในทุกอีเว้นท์ที่ททท.จัดเองหรือให้การสนับสนุน ต้องมีแผนเรื่องลดการปล่อยก๊าซ และในปีหน้าททท.ยังได้ร่วมมือกับจ.กระบี่ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำ Krabi Model
เป็นการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้ายั่งยืนในพื้นที่ต้นแบบ (Sustainable Product Prototype) ในแบบ 360 องศา เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความยั่งยืน ใน 3 มิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปเปิดตัวในเวทีท่องเที่ยวระดับโลกด้วย
อีกทั้งในส่วนของการจัดกิจกรรมประเพณีต่างๆ นอกจาก เคาท์ดาวน์ ตรุษจีน สงกรานต์ วันนี้หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ในส่วนของททท.ก็ต้องมองเรื่องอินโนเวชั่นใหม่ๆในการทำงานเพื่อสร้างจุดขายให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โดยมองที่จะยกระดับกิจกรรมที่มีศักยภาพให้เป็นกิจกรรมประจำปี และเป็นแฟล็กซิฟอีเว้นท์ได้ อย่างงานวิจิตรเจ้าพระยา มองว่าเป็นงานที่ได้ประโยชน์ตั้งแต่ระดับฐานราก เพราะกระจายพื้นที่จัดงาน ชุมชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ อย่างในปีนี้งานวิจิตรเจ้าพระยา มีคนดูไม่น้อยกว่า 5 แสนคน ททท.ลงทุนไป 58 ล้านบาท แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท
รวมไปถึงพัฒนางานประเพณี ที่สามารถพัฒนาเพื่อเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ อย่าง ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม สามารถขายการท่องเที่ยวเชื่อมสู่ลาว หรือกระจายไปยังเมืองน่าเที่ยวต่างๆได้ เพราะเส้นทางแม่น้ำโขงต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดี หรือแม้แต่งานแห่ดาวคริสต์มาส จ.สกลนคร หรืองานด้านคลีเอทีฟ อีโคโนมี ในเชียงใหม่ กิจกรรมเหล่านี้ททท.สามารถพัฒนาเพื่อสร้างจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้าพื้นที่ได้มากขึ้น
ส่วนแผนการระยะยาว (3-5 ปีขึ้นไป) จะพัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มลักชูรี เช่น การจัดทัวร์แบบส่วนตัว หรือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่มีรีสอร์ทและการให้บริการสปาแบบครบวงจร
การส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงศิลปะ (Art Tourism) หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง การขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวกลุ่มลักชูรี เช่น การขยายสนามบิน การพัฒนาท่าเรือสำหรับเรือยอชท์ การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวระดับสูง การปรับปรุงบริการขนส่งสาธารณะหรือบริการรถเช่าหรูเพื่อความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,052 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567