สรุป ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยแล้ว 35,545,714 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยมีแนวโน้มทะลุ 35 ล้านคน ถือว่าเป็นกรณีที่ดีที่สุด จากเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ตั้งไว้ว่าในปีนี้ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ระหว่าง 28-35 ล้านคน
โดยอันดับ 1 ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจีน ปิดที่ 6.7 ล้านคน แม้จะยังไม่กลับมาเท่ากับปีก่อนเกิดโควิด (ปี 2562) ที่เคยอยู่ที่ 11 ล้านคนก็ตาม ซึ่งเป็นผลจากการชลอตัวทางเศรษฐกิจจีน คนจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มจีนรุ่นใหม่ และกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที) จากปัจจัยวีซ่าฟรี ต่างจากในอดีตที่ส่วนใหญ่เป็นกรุ๊ปทัวร์ ตามมาด้วยมาเลเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้
ปี 2567 ตลาดนักท่องเที่ยวที่มีการเติบโตสูงสุด คือ นักท่องเที่ยวอินเดีย ซึ่งทะลุ 2 ล้านคนแล้ว สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยสำคัญ คือ มาตรการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาอินเดีย เดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อการท่องเที่ยวและติดต่อธุรกิจระยะสั้น ระยะเวลาพำนักไม่เกิน 60 วัน
ประกอบกับการบรรลุข้อตกลงด้านการจัดสรรสิทธิการบิน ไทย-อินเดีย ทำให้มีที่นั่งบนเครื่องบินเพิ่ม 7,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ สู่ 6 เมืองสำคัญในอินเดีย ได้แก่ มุมไบ เดลี เชนไน กัลกาตา บังกาลอร์ไฮเดอราบัด เริ่มทำการบินเดือนพ.ย. 2567
ทำให้สายการบินต่างๆสามารถเปิดเที่ยวบินในเส้นทางบินไทย-อินเดียได้เพิ่มขึ้น จึงทำให้นักท่องเที่ยวอินเดีย เติบโต 130% จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวไต้หวันที่ทะลุ 1 ล้านคน
ขณะที่จังหวัดที่มีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวสูงสุดสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถ้าไม่รวม กรุงเทพฯ คือ ภูเก็ต ซึ่งในปีนี้แทบจะไม่มีโลว์ซีซัน โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยตลอดทั้งปีนี้ ก็มีอัตราการเข้าพักใกล้เคียงกับปี 2562 แล้ว โดยโรงแรมระดับ 4-5 ดาวขึ้นไป ราคาขายห้องพักจะสูงกว่าปีก่อนเกิดโควิดแล้ว เนื่องจากมีดีมานต์ของนักท่องเที่ยวสูงมาก
สำหรับการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทย ในปีนี้ มีแนวโน้มจะเกินกว่าเป้า โดย ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2567 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 189.4 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 9 แสนล้านบาท ทำให้ตลอดทั้งปีนี้มีแนวโน้มที่คนไทยจะเดินทางเที่ยวในประเทศ 197.6 ล้านคน-ครั้ง จากเป้าหมายที่ททท.ตั้งไว้ที่ 158-200 ล้านคน-ครั้ง เนื่องจากททท.มีการจัดอีเว้นท์และแคมเปญกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามแม้ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งต่างชาติเที่ยวไทย และไทยเที่ยวไทย ถือว่าทำให้ดีตามเป้าหมาย แต่ในแง่ของรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ ชัดเจนว่าจะไม่ถึงเป้าหมายสูงสุดที่ททท.คาดไว้ แต่ก็เกินเกณฑ์เป้าหมายต่ำสุดที่วางไว้
โดยในปี 2567 คาดว่าไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติเที่ยวไทยและไทยเที่ยวไทยอยู่ที่ราว 2.62 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ที่ 3 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ราว 3.8 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.67 ล้านล้านบาท และรายได้จากตลาดในประเทศอยู่ที่ 9.45 แสนล้านบาท
เนื่องจากการใช้จ่ายของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง จากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เป็นตลาดระยะสั้น ทำให้มีวันพักไม่สูง ส่วนตลาดระยะไกล แม้จะเดินทางมาเที่ยวหลายวัน แต่ระมัดระวังในการใช้จ่าย จากภาวะเศรษฐกิจโลกชลอตัว
เช่นเดียวกับคนไทย ที่แม้จะเดินทางเที่ยวอยู่ แต่ก็ลดวันท่องเที่ยวและลดการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวลง เนื่องจากความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน และความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งกว่า 80% ของคนไทยนิยมขับรถเที่ยวจึงหันมาเที่ยวระยะใกล้แทน
รวมถึงการหันเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน จากมาตรการยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเที่ยวต่างประเทศที่ถูกกว่าในประเทศ จากปัญหาตั๋วเครื่องบินในประเทศมีราคาแพง โดยในปีนี้ทางสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) คาดว่า ตลอดทั้งปีนี้คนไทยจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ 13-14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6 %
นางสาว ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ยอมรับว่ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวแม้จะไม่ถึงเป้าหมายที่ ททท. เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3 ล้านล้านบาท แยกเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวไทย 9.3 แสนล้านบาท เนื่องจากภาวเศรษฐกิจโลกซบเซา สงครามตะวันออกกลาง และการจัดเก็บข้อมูลของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ครอบคลุมการจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ จึงทำให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ทำให้ในปี 2568 รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้สั่งการให้กระทรวงฯ ออกแบบระบบจัดเก็บข้อมูลให้คลอบคลุมกับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์
อย่างไรก็ตามแม้ในส่วนของเป้าหมายรายเชิงรายได้จะห่างจากเป้าคาดการณ์กว่า 4 แสนล้านบาท แต่เป้าหมายเชิงจำนวนทั้งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยเที่ยวไทยถึงเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ รวมถึงไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อานิสงส์จากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการวีซ่าฟรี มาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
ขณะที่จำนวนที่นั่งโดยสารฟื้นกลับมา 47 ล้านที่นั่ง หรือคิดเป็น 90% ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีจำนวนที่นั่งโดยสาร 57 ล้านที่นั่ง
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่การบินไทย ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ จนทำให้การบินไทยกลับมามีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งอีกครั้ง และสร้างรายได้จนทำให้ธุรกิจกลับมามีกำไรต่อเนื่อง
ดังนั้นบทสรุปสุดท้ายในปีนี้ ที่จะทำให้การบินไทย ยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ในไตรมาส 2 ปีหน้าได้ คือ การดำเนินการปรับโครงสร้างทุน โดยการบินไทยได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อรองรับการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทย ทั้งกระทรวงการคลัง เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้สถาบันการเงินได้แปลงหนี้เป็นทุน
ทั้งในแบบภาคบังคับที่ศาลกำหนด การแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มทุน แบบสมัครใจ และการแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุน แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
โดยกระทรวงการคลังใช้สิทธิตามแผนฟื้นฟู 100% ขณะที่เจ้าหนี้หุ้นกู้ และเจ้าหน้าสถาบันการเงิน ใช้สิทธิ 24.5 % ตามแผนจำนวนหุ้นที่จัดสรรสำหรับการแปลงหนี้เป็นทุนรวม 20,989.4 ล้านหุ้น มูลค่าที่แปลงหนี้เป็นทุนอยู่ที่ 53,453.2 ล้านบาท ส่งผลให้การบินไทยมีส่วนของทุนเป็นบวกอยู่ที่ 18,000 ล้านบาทแล้ว
ทั้งการบินไทยยังได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุน อีกไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน ถ้าเหลือก็จะขายให้แก่พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด ( Private Placement) ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 44,004.7 ล้านบาท ราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น
แต่ระหว่างกระบวนการปรับโครงสร้างทุน และการดำเนินธุรกิจของการบินไทย กำลังไปได้สวยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
ปรากฏว่าในระหว่างทางกระทรวงการคลัง ได้ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูฉบับที่ 3 โดยวาระที่เป็นประเด็น คือ ขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 2 ราย จากกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม
ได้แก่ 1.นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ 2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
ส่งผลให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูจำนวน 5 คนจะมีคนจากภาครัฐสูงถึง 3 คน ทำให้สังคมและเจ้าหนี้วิตกว่า เป็นการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อหวังผลการเสนอการแต่งตั้งบอร์ดการบินไทยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการกุมอำนาจการบริหารงานในการบินไทย
แม้กระทรวงการคลังจะไม่มีนโยบายดึงการบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีตก็ตาม ส่งผลให้มีเจ้าหนี้การบินไทย ได้ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อขอการยกเลิกการโหวตของเจ้าหนี้การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมามติในเรื่องนี้แล้ว
โดยศาลล้มละลายกลางจะนัดฟังคำสั่งในวันที่ 21 มกราคม 2568 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนไปแล้ว เพราะในการขายหุ้นเพิ่มทุนล่าสุด ขายได้ 5,108 ล้านหุ้น จากที่เสนอขาย 9,822 ล้านหุ้น การใช้สิทธิไม่เต็มจำนวน เป็นเพราะนักลงทุน PP ไม่ได้เข้ามาลงทุนมากอย่างที่คาดหวัง
ดังนั้นนอกจากผู้ถือหุ้นเดิม และพนักงานการบินไทย ก็มี PP เข้ามาลงทุน 2 ราย คือ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI) จำนวน 22,321,400 หุ้น และ นายวิชัย กุลสมภพ จำนวน 250,000 หุ้น
ทำให้เงินที่คาดว่าจะได้ 4.4 หมื่นล้านบาท เหลืออยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท หายไปกว่าครึ่ง ซึ่งแม้จะเพียงพอในการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ก็น่าเสียดายที่การบินไทยควรจะระดมทุนได้มากกว่านี้ เพื่อรองรับการจัดหาเครื่องบินที่สั่งซื้อไปแล้ว 45 ลำ ยังไม่รวมเครื่องบินที่จองสิทธิ์ไว้ 35 ลำ
จากเงินที่ได้น้อยกว่าที่คาด ก็ทำให้การบินไทยต้องปรับแผนการจัดหาเครื่องบินแบบเช่าดำเนินการไปก่อน ในช่วงปี 2568-2569 ก่อนที่จะรับมอบเครื่องบินล็อตแรกในปี 2570
แผนการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการบินภูมิภาค ทำให้ในปีนี้รัฐบาล ได้ประกาศ ที่จะให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท.เดินหน้ายกระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 58 ของโลก
โดยฟันธงชัดเจนถึงแผนการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะต้องสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ด้านทิศใต้ (South Terminal) จากเดิมที่โครงการนี้แทบจะอยู่ในเฟสท้ายๆของแผนการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ
ส่งผลให้ทอท.จึงอยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อขยายศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิในระยะ 10 ปี (ปี 2567-2577) รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 150 ล้านคนต่อปี
ขณะนี้มี 2 โครงการใหม่ที่ชัดเจนแล้วว่าทอท.จะเดินหน้าลงทุนแน่นอน ได้แก่ การขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก หรือ East Expansion ลงทุน 1 หมื่นล้านบาท
รวมถึงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของสนามบิน หรือ South Terminal พร้อมรันเวย์ 4 วงเงินลงทุนรวม 1.7 แสนล้านบาท (เฉพาะการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท) คาดประมูลก่อสร้างในปลายปี 2570 แล้วเสร็จในปี 2575
จากภาคการท่องเที่ยวของไทยที่กลับมาคึกคัก ส่งผลธุรกิจโรงแรมไทยเป็นที่จับจ้องในการเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ที่ทำรายได้จากค่าห้องพักสูงเกินช่วงก่อนเกิดโควิด ปี 2562 ไปแล้ว
จากข้อมูลของคอลลิเออร์ส อินแตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เผยว่า การซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยประมาณ 12 แห่ง จำนวน 3,199 ห้องพัก ด้วยมูลการซื้อขาย 16,778 ล้านบาท และทั้งหมดเป็นการซื้อขายในเมืองท่องเที่ยว เช่นภูเก็ต กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และ สมุย
อีกทั้งยังมีโรงแรมที่อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อขายอีกจำนวนมาก คาดการณ์ว่าทั้งปีนี้มูลค่าการซื้อขายอาจอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท สูงที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
สอดคล้องกับ เจแอลแอล (JLL) ที่ระบุว่า ในปี 2567 JLL ปิดการขายโรงแรมที่สำคัญในประเทศไทยไปแล้วหลายรายการ ได้แก่ เดอะ ละไม สมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา, โรงแรมฮิลตัน การ์เด้น อินน์ ภูเก็ต บางเทา, พอร์ทโฟลิโอเซอร์อพาร์ทเม้นท์ 5 อาคาร ซึ่งมีห้องพักรวมกว่า 1,800 ห้อง
รวมถึงโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท ของบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ที่มีมูลค่าซื้อขาย 5 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นการซื้อขายสินทรัพย์เดี่ยวประเภทโรงแรมที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในประเทศไทย
นอกจากนี้ JLL ยังคงเชื่อมั่นในการลงทุนโรงแรมในประเทศไทย และคาดว่าจะเห็นการซื้อขายโรงแรมในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเกาะสมุย เพิ่มเติมภายในสิ้นปีนี้
จากความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับปริมาณเที่ยวบินที่ยังมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินมีราคาแพง
ทำให้ครม.จึง ไฟเขียวสายการบินของไทยสามารถจัดหาเครื่องบินแบบ Wet Lease (เครื่องบินรวมนักบินต่างชาติ) เป็นการชั่วคราว เพื่อนำมาทำการบินเส้นทางบินในประเทศได้ ชั่วคราว เป็นเวลา 1 ปี จะเป็นการต่ออายุให้ครั้งละ 6 เดือน เป็นจำนวน 2 ครั้ง ทั้งๆที่นักบินเป็นอาชีพสงวนของคนไทย
โดยมีสายการบินไทยเวียตเจ็ท เป็นสายการบินแรกและสายการบินที่ชงเรื่องนี้ไปยังกระทรวงคมนาคมและกระทรวงแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมนักบินไทย ก็ออกโรงคัดค้านในเรื่องนี้มาโดยตลอด
เนื่องจากกังวลว่าอาจนำไปสู่การอนุญาตในลักษณะเดียวกันอย่างต่อเนื่องในอนาคต หากมีการอนุญาตให้นักบินต่างชาติเข้ามาทำการบินในประเทศเป็นระยะเวลา 6 เดือนในทุกปี
อุตสาหกรรมการบินไทยจะต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กระทบการจ้างงานของนักบินไทย และบั่นทอนศักยภาพด้านการบินของประเทศในระดับภูมิภาค
ทั้งหวั่นว่าไทยจะกลับมาติดธงแดง จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อีกครั้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อตกลงตามอนุสัญญาชิคาโก 1944 และภาคผนวก
ทำให้ที่ผ่านมาสมาคมนักบินไทย ก็มีความพยายามเรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างไร