วันนี้ (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย ได้ร่วมแถลงผลการดำเนินงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567
โดยระบุว่า ผลประกอบการ ปี 2567 การบินไทยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เท่ากับ 187,989 ล้านบาท เพิ่มจาก 161,067 ล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 16.7%
การบินไทย
ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) เท่ากับ 41,515 ล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 40,211 ล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 3.2% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) (EBIT Margin) สำหรับปี 2567 อยู่ที่ 22.1% ซึ่งดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ
ผลการดำเนินของ การบินไทย ปี 2567
ทั้งนี้ตามงบการเงินรวมสำหรับปี 2567 การบินไทยมีผลขาดทุน 26,901 ล้านบาท เกิดจากผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 45,271 ล้านบาท ที่บริษัท ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
โดยผลขาดทุนทางบัญชีส่วนใหญ่ประมาณ 40,582 ล้านบาท เกิดจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ราคาตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม และส่วนที่เหลือมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้ที่เร็วกว่ากำหนดที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ดี รายการดังกล่าวเป็นผลขาดทุนทางบัญชีซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และไม่ได้ส่งผลต่อการออกจากการฟื้นฟูกิจการ
เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนยังคงเป็นบวก
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากการดำเนินงาน หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน (EBITDA – Aircraft Cash Lease) ตามงบการเงินเฉพาะกิจการสำหรับงวด 12 เดือนย้อนหลังเท่ากับ 41,473 ล้านบาท ซึ่งไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ
ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตามงบเฉพาะกิจการกลับมาเป็นบวกที่ 45,495 ล้านบาท จากที่เคยติดลบ 43,352 ล้านบาทในปี 2566 หลักๆ เกิดมาจากกำไรจากการดำเนินงานในระหว่างปี และผลจากการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ
ส่งผลให้การบินไทยสามารถบรรลุอีกหนึ่งเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ และยังส่งผลให้เหตุแห่งการเพิกถอนหุ้นตามนิยามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหมดไป และทำให้บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในขั้นตอนถัดไป ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนดำเนินการเพื่อบรรลุเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการข้อสุดท้าย โดยได้มีมติเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจะจัดขึ้นตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 18 เมษายน 2568 และกำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (Record Date) เป็นวันที่ 14 มีนาคม 2568 เพื่อพิจารณาอนุมัติกำหนดจำนวนกรรมการบริษัท(บอร์ดการบินไทย) จำนวน 11 ท่านหรือ 12 ท่าน
บอร์ดใหม่การบินไทย
โดยประกอบด้วยกรรมการในปัจจุบันจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และพลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย และกรรมการเข้าใหม่จำนวน 8 ท่านหรือ 9 ท่าน (ตามแต่จำนวนกรรมการที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติ)
ขณะที่รายนามกรรมการเข้าใหม่ที่เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวน 6 ท่าน ได้แก่ นายลวรณ แสงสนิท ดร. กุลยา ตันติเตมิท นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ พลตำรวจเอก ธัชชัย ปิตะนีละบุตร นายชาติชาย โรจน์รัตนางกูร และนายชาย เอี่ยมศิริ และกรรมการอิสระจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล และนายสัมฤทธิ์ สำเนียง
ทั้งนี้ภายหลังจากบริษัทฯ ได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว และได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางแล้ว บริษัทฯ จะดำเนินการจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงจำนวนกรรมการ และการแต่งตั้งจดทะเบียนกรรมการใหม่ ก่อนที่จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติอนุมัติการลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้นของบริษัทฯ จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชีของบริษัทฯ ให้ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด
โดยจะทำให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทฯ ลดลงจากจำนวนประมาณ 283,033 ล้านบาท เป็นจำนวนประมาณ 36,794 ล้านบาท และทำให้ผลขาดทุนสะสมลดลงเหลือ 180 ล้านบาท
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือบริษัทฯ แต่อย่างใด และไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมในงบการเงินของบริษัทฯ อีกทั้ง ไม่มีผลกระทบต่อมูลค่าบริษัทหรือมูลค่าต่อหุ้น
เนื่องจากมูลค่าต่อหุ้นไม่ได้ถูกกำหนดจากมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) และเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทฯ สามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลในอนาคตให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
รวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน และเป็นการเพิ่มความน่าสนใจของหุ้นให้แก่นักลงทุนภายหลังการกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
หรือหากในอนาคต บริษัทฯ ต้องการที่จะระดมทุนเพิ่มเติมโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการหรือชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดเรื่องผลขาดทุนสะสมซึ่งเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีอีกต่อไป