วันที่ 29 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวฐานเศรษฐกิจ รายงานว่ามีกลุ่มเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายประมงภาคประชาชนยอดจำนวน 50 คน นำโดยนายประทีป อบเชยนายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เดินทางมาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อมายื่นหนังสือคัดค้าน ถึง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี เรื่อง เนื่องด้วยจากเหตุการณ์ที่มีสหพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยมาขอเข้าพบพลเอกประวิตร เพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รีบออกประกาศกฎกระทรวงตามมาตรา 57 ห้ามให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง
ทั้งนี้กลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้
1. การออกประกาศมาตรา 57 ไม่สามารถใช้ข้อกฎหมายนี้ได้จริง เพราะด้วยภูมิประเทศไทย มีสัตว์น้ำหลากหลายชนิดปะปนอยู่ในท้องทะเลซึ่งเครื่องมือประเภทต่างๆไม่สามารถแยกการจับปลาได้
2. กฎหมายในมาตรานี้มีบทลงโทษที่รุนแรงจากภูมิประเทศทะเลไทยทำให้ชาวประมงล่อแหลมต่อการกระทำผิดโดยไม่มีเจตนา
3. เรื่องสัตว์น้ำวัยอ่อนทางกรมประมงมีมาตรการปกป้องรักษาคุ้มครองสัตว์วัยอ่อนนี้อยู่แล้วส่วนประเด็นปลาทูที่ขาดหายไปจากการวิเคราะห์พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ปลาทูมีคุณสมบัติตอบสนองสภาพแวดล้อมสูญหายไป
4.กรมประมงได้ดำเนินการจัดประชุมร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงพี่น้องชาวประมง 22 จังหวัดทั้งประมงพื้นบ้านประมงพาณิชย์และประมงนอกน่านน้ำซึ่งมีสาระสำคัญเห็นว่ายังขาดความเหมาะสมในการออกมาและการตามมาตรา 57 และควรศึกษาความเหมาะสมตามบริบทในพื้นที่และยืดหยุ่นตามความเหมาะสม
5. ข้อกฎหมายมาตรานี้ยังมีการสรุปแก้ไขไว้อยู่ในรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติเรื่องการศึกษาและแก้ไขปัญหาประมงไทยของคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์สภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้นกลุ่มตัวแทนประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงขอเสนอว่าไม่ควรออกประกาศมาตรา 57 นี้และควรยกเลิกกฎหมายนี้ออกไปจากพรก.ประมงไทย ขณะรายงานกลุ่ม อยู่ระหว่างเจรจาหารือ โดยมี พลตำรวจโทไกรบุญ ทรวดทรง(ผช.ผบ.ตร.) คณะทำงานรองนรม.(พล.อ.ประวิตร)และนายอิทธิพล ช่างกลึงดี ผอ.ศบช.สปน.เข้าร่วมเจรจาหารือรับฟัง หาความเดือดร้อนของกลุ่มต่อไป