ดร. จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก โพสต์จดหมายเปิดผนึกผ่านเฟซบุ๊ก สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ถึงประธานชมรมแพทย์ชนบทสืบเนื่องจากโพสต์ของชมรมแพทย์ชนบท เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ที่ใช้ภาพประกอบบทความว่า "กลุ่มต่อต้านการแบน พาราควอต ผิดหวัง" ซึ่งใช้ภาพประกอบเป็นคนเดินพ่นสารเคมีในนาข้าว นั้น
สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นองค์กรวิชาการที่เผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาการวัชพืชที่ถูกต้องให้แก่สังคม มาเป็นเวลายาวนาน 40 ปี ขอเรียนให้ทราบว่า เป็นการใช้ภาพประกอบที่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังพูดถึง สารกำจัดวัชพืช "พาราควอต" เนื่องจาก
1. พาราควอต เป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์แสง เข้าทำลายทุกส่วนของใบและลำต้นพืชที่มีสีเขียว ไม่ว่าพืชนั้น..จะเป็น "ข้าวปลูก" หรือ "วัชพืช" ดังนั้น จึงถูกจัดเป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย (Non- selective herbicide)
2. ชาวนาใช้พาราควอตจริง แต่! ใช้พ่นฆ่าหญ้าตามหัวคันนาและทางเดินเท่านั้น และหลีกเลี่ยงไม่ให้ละอองสารไปสัมผัสใบและต้นข้าว เพราะรู้ดีว่า หากปล่อยให้พาราควอตปลิวไปสัมผัสใบและต้นข้าว ต้นข้าวจะแห้งตายภายใน 1 วัน ดังนั้น ชาวนาทั่วโลก จึงไม่เคยใช้พาราควอตพ่นกำจัดวัชพืชในนาข้าว
3. ภาพคนกำลังเดินพ่นสารเคมีในนาข้าว เป็นการพ่นสารฆ่าแมลง หรือ สารกำจัดโรค หรือ ปุ๋ยทางใบ หรือฮอร์โมนพืช เพราะสารเหล่านี้สามารถพ่นโดยตรงไปที่ต้นข้าวได้ โดยไม่เป็นพิษต่อต้นข้าว
4. เนื่องจากพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย จึงใช้ได้ในพืชที่ปลูกเป็นแถว เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล โดยพ่นกำจัดวัชพืชที่ขึ้นอยู่ระหว่างแถวพืช ขณะพ่นพาราควอต เกษตรกรจะกดหัวฉีดไปที่ต้นวัชพืช ซึ่งมีความสูงประมาณ 15-30 ซม. เพื่อให้ละอองสารไปสัมผัสใบและต้นของพืชประธานให้น้อยที่สุด
5. ในกรณีพืขผัก เกษตรกรจะพ่นพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืชให้ตาย ก่อนไถเตรียมดินปลูกผัก แต่หลังปลูกผักแล้วจะไม่ใช้พาราควอต โดยเฉพาะในผักกินใบ เช่น คะน้า .หากมีละอองพาราควอตปลิวไปสัมผัสใบ ใบผักจะแสดงอาการใบไหม้ภายใน 24 ชั่วโมง ไม่สามารถส่งขายได้
นอกจากนี้ ภาพประกอบดังกล่าวยังแสดงให้เห็นละอองสารเคมีฟุ้งกระจาย ซึ่งทำให้คนทั่วไปในสังคมเข้าใจได้ว่าชาวนาไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับสัมผัสพาราควอต จนเกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ
จากคำอธิบายข้างต้น หวังว่า ชมรมแพทย์ชนบท จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสารพาราควอตมากขึ้น และ แก้ไขภาพประกอบที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดว่า มีการใช้พาราควอตในนาข้าว หากต้องการภาพประกอบพาราควอตที่ถูกต้อง สามารถติดต่อขอรับได้ที่ นายกสมาคมฯ โทร 099-010-401-9
แฟนเพจของสมาคม ก็ต่างคอมเมนท์กันรัวๆ สามารถเข้าไปอ่านในเพจกันได้เต็มอิ่ม ทางผู้รายงานข่าวขอยกตัวอย่างมาเท่านั้น