เปิดตัว “ไดควอต” สารกำจัดวัชพืช น้องใหม่ แทน “พาราควอต”

01 ก.ย. 2564 | 09:09 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2564 | 17:12 น.

ตะลึง ประเทศไทย จะมีการนำเข้า “ไดควอต” สารกำจัดวัชพืช น้องใหม่ แทน “พาราควอต” สารดังกล่าวจะเป็นอย่างไร สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดโปงข้อมูล อย่างตรงไปตรงมา จับตาบริษัท ไหนได้สิทธิ์นำเข้ามาจำหน่าย

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย  เผยถึง สาระน่ารู้ เรื่อง “ไดควอต”  (Diquat) ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่กำลังถูกจับตามอง ว่าจะเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อเป็นสารทดแทน "พาราควอต" นั้น  ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย บราซิล และจีน ใช้ไดควอต กำจัดวัชพืชน้ำ กำจัดวัชพืชในไม้ยืนต้น/พืขผัก และพ่นก่อนเก็บเกี่ยวพืชหลายชนิด โดยเฉพาะ มันฝรั่ง ทานตะวัน คาโนล่า และพืชตระกูลถั่ว

 

  • ในปี 2558  EFSA ของ สหภาพยุโรป (EU) ได้สรุปผลการประเมินความเสี่ยงจากการใช้ไดควอต ในปี 2558 จนเป็นที่มาของการแบนไดควอตใน EU

 

  • เดือนพฤษภาคม 2561  EU มีมติให้ยกเลิกการใช้ไดควอต  ในยุโรป ด้วยเหตุผลว่า ผู้พ่น และ คนที่ยืนใกล้แปลง หรือผู้คนที่อาศัยในละแวกใกล้เคียง มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการพ่นไดควอต  มีผลการวิจัยยืนยันว่า แม้แต่ผู้พ่นที่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน PPE (Personal Protective Equipment) ก็มีโอกาสได้รับสารไดควอตเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เกินค่าความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน (Acceptable Operator Exposure Level  หรือ AOEL ซึ่งมีค่าเท่ากับ 0.0002 mg diquat ion/kg bw/day) 

 

  • 31 กรกฎาคม 2562 เป็นวันสุดท้ายของการอนุญาตให้จำหน่ายไดควอตในยุโรป

 

  • 4 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นวันสุดท้ายของการอนุญาตให้ใช้สารไดควอตในยุโรป

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจาก EU มีมติแบนไดควอต ในเดือนพฤษภาคม 2561  แต่ยังมีระยะผ่อนปรน (Grace Period) ให้เกษตรกร ใช้ไดควอตให้หมดภายในเวลาเกือบ  2 ปี  และยังเปิดโอกาสให้ทำงานวิจัยหาวิธีการหรือสารทดแทนไดควอต เพื่อลดผล กระทบต่อเกษตรกร

หลังจากประกาศแบนไดควอต สหภาพยุโรป(EU)  กำหนดค่าตกค้างสูงสุด (MRLs) ในสินค้านำเข้า เช่น พืชตระกูลถั่ว ไว้ที่  0.2 - 0.3  มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm) ซึ่งต่ำกว่าค่า MRLs ของประเทศแคนาดา 0.9 ppm แต่สูงกว่า MRLs ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้เพียง 0.05 ppm สำหรับพืชตระกูลถั่ว

 

จากมาตรฐานค่า MRLs ของไดควอต ที่แตกต่างกันระหว่าง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และ แคนาดาจะเห็นได้ว่า   ค่า MRL ไม่ใช่มาตรฐานความปลอดภัย (Safety standard)  แต่ MRL เป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ทางการค้า (Trading standard) เท่านั้น

 

แต่ละประเทศสามารถกำหนดไว้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ความต้องการที่จะตั้งกำแพงไว้กีดกันทางการค้ามากแค่ไหน ถ้าเกษตรกรเค้าผลิตพืชชนิดไหนอยู่แล้ว เค้าจะตั้งค่า MRLs ไว้ต่ำมากๆ จนประเทศที่จะส่งมาขาย ต้องประสบปัญหาต้นทุนในการผลิตสูง  จึงส่งมาขายแข่งขันได้ยาก  ยกเว้นจะมีการเจรจากันว่าขอเพิ่มค่า MRLs แต่ประเทศคู่ค้า ก็ต้องยอมแลกกับเงื่อนไขที่ประเทศผู้ซื้อต้องการเกษตรกรปลูกมันฝรั่งใน EU ทำอย่างไรยามไร้ไดควอต

 

ปกติเกษตรกรในยุโรป จะใช้ไดควอตพ่นมันฝรั่งให้ใบร่วงก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของโรคไหม้มันฝรั่ง (Late Blight Disease of Potato มีสาเหตุจากเชื้อราไฟท็อปธอร่า Phytopthora infestans) เพื่อไม่ให้เชื้อโรคลุกลามจากใบไปทำความเสียหายกับหัวมันฝรั่งที่อยู่ใต้ดิน

 

ในปี 2563 เริ่มใช้สารกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ PPO  (Protoporphyrinogen Oxidase)  2 ชนิด มาทดแทนไดควอต คือ  คาร์เฟนทราโซน (carfentrazone) และไพราฟลูเฟน-เอทิล (pyraflufen-ethyl) แต่ประสิทธิภาพก็ยังไม่ดีเทียบเท่าไดควอต ดังนั้น เกษตรกรจึงหันมาใช้เแทรกเตอร์พ่วงท้ายอุปกรณ์ ที่เรียกว่า "Flailing" มาตัดต้นมันฝรั่งเพื่อให้ต้นแห้ง แทนการพ่นไดควอต

 

หรือใช้ร่วมกับสารในกลุ่ม PPO เพื่อเก็บเกี่ยวหัวมันฝรั่ง แต่ปัญหาคือ ไม่สามารถควบคุมให้มันฝรั่งมีขนาดหัวเป็นไปตามความต้องการของตลาดได้ดีเท่าไดควอต และ ในช่วงดินเปียกแฉะแทรกเตอร์ลงไปทำงานไม่ได้

 

สำหรับคุณสมบัติ วิธีใช้ ความเป็นพิษ และข้อควรระวังในการใช้สารไดควอต มีอะไรบ้าง โปรดติดตามตอนต่อไป